ABeam คาดยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ฟื้นตัวในระยะยาว มั่นใจการเติบโตมาจาก 3 ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหภาค ได้แก่ 1. ประเทศไทยดำเนินนโยบายเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม 2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศส่งผลให้มีปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้น และ 3. ธุรกิจขายของออนไลน์ที่เติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่เร่งให้เจ้าของฟลีทยานพาหนะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงประสิทธิภาพ และจัดการต้นทุนในการบริหารจัดการอย่างจริงจัง
นายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปรับเปลี่ยนองค์กรธุรกิจในรูปแบบดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ในเครือบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยข้อมูลผลวิจัยเกี่ยวกับ อนาคตของตลาดรถยนต์เชิงพาณิชย์ ที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ ว่าตั้งแต่ปี 2558 – 2562 รถยนต์ปิคอัพขนาด 1 ตัน มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 4.40% ในขณะที่ยอดขายรถเชิงพาณิชย์อื่น ๆ เติบโตเพียง 2.51% ในช่วงปีเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ยอดขายรถกระบะขนาด 1 ตันในปี 2563 หดตัวอย่างมาก ถึง 17% เมื่อเทียบกับปี 2562 ในขณะที่ยอดขายรถเชิงพาณิชย์อื่น ๆ ลดลงเพียง 8% ตัวเลขเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าแม้จะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ตลาดรถยนต์ที่ไม่ใช่รถกระบะ (non-pickup truck) ถือว่ามีภูมิที่แข็งแรง เมื่อเทียบกับตลาดรถยนต์กลุ่มอื่น ๆ
การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดรถยนต์เชิงพาณิชย์ในช่วงหลายปีจากนี้ คาดว่าจะเกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัยหลัก ประการแรก คือ ประเทศไทยยังคงนโยบายเสริมความสามารถในการแข่งขัน ทั้งด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม ทำให้การใช้รถยนต์เชิงพาณิชย์จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ABeam ประมาณการว่า 49% ของรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่มีน้ำหนักเกิน 2.5 ตัน ถูกใช้ในภาคเกษตรกรรม ในขณะที่อีก 42% ถูกใช้ในภาคอุตสาหกรรม จากการวิเคราะห์ของ ABeam ยังแสดงให้เห็นโอกาสการเติบโต สืบเนื่องจากการวิจัยและพัฒนา ที่ยกระดับเมล็ดพันธุ์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านเทคโนโลยีหลายรูปแบบ เช่น การนำเทคโนโลยีมาผสมผสานเพื่อพัฒนาเป็นการเกษตรยุคดิจิทัล ที่จัดการดูแลการเพาะปลูกผ่านแอปพลิเคชั่น นอกจากนี้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องลดความเสี่ยง และเพิ่มความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดให้ดีขึ้น ด้วยการย้ายฐานการผลิตโดยให้ห่วงโซ่การผลิตสั้นลง ลดการพึ่งพาในระยะไกล และหันมาพึ่งพาระยะใกล้ในระดับภูมิภาคแทน
ประการที่สอง จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับประเทศไทยให้ก้าวสู่ศูนย์กลางการค้าการลงทุน ทำให้เกิดปริมาณการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ตัวอย่างคือ “โครงการรถไฟไทย – จีน” ซึ่งมีเป้าหมายเชื่อมต่อประเทศไทยเข้ากับเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ที่เชื่อมโยงจีนกับนานาชาติกว่า 64 ประเทศ โดย ABeam คาดว่าโครงการลักษณะนี้และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ จะทำให้ตลาดรถยนต์เชิงพาณิชย์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป เนื่องจากความต้องการของรถยนต์ที่ใช้ในงานก่อสร้าง และปริมาณการค้าที่มากขึ้นผ่านยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่
ประการที่สาม เทรนด์การค้าออนไลน์ที่ไม่มีท่าที่ว่าจะลดลงแม้จะเป็นยุคหลังโควิด-19 ตลาด e-commerce ต้องพึ่งพารถบรรทุกขนาดใหญ่สำหรับการขนส่งสินค้าจากท่าเรือไปยังคลังสินค้า รวมถึงรถยนต์เชิงพาณิชย์อย่างรถกระบะสำหรับการขนส่งในช่วงสุดท้ายก่อนถึงมือลูกค้า ตัวอย่างเช่น Kerry Express ที่ปัจจุบันมีรถบรรทุก 6 ล้อ จำนวน 420 คัน และรถบรรทุก 4 ล้อ จำนวน 7,334 คัน ผลสำรวจขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2563 ซึ่งทำการสำรวจในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้วรวม 9 ประเทศ ชี้ให้เห็นว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม จะยังคงมีพฤติกรรมซื้อสินค้าออนไลน์ต่อไป แม้ว่าการระบาดจะสิ้นสุดลงก็ตาม
ในภาพรวม ตลาดรถเชิงพาณิชย์จะฟื้นตัวขึ้นในระยะยาว เจ้าของธุรกิจฟลีทรถ จำเป็นต้องคิดหากลยุทธ์ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างการเติบโตภายในประเทศ ABeam เห็นว่าระบบบริหารยานพาหนะ และการขนส่งครบวงจร (Advanced Telematic Service) จะเป็นหนึ่งในดิจิทัลโซลูชั่นที่ดีที่สุดสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ รองรับการขยายตัวของฝูงรถ และการดูแลรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานค่อนข้างนาน ปัจจุบัน กรมการขนส่งทางบกมีการออกกฎหมายเพื่อกำหนดให้ รถบรรทุกหนัก หรือ 10 ล้อขึ้นไป ต้องติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณทางไกล (GPS tracking) โดยรายงานจากกรมฯ ระบุไว้ว่าตอนนี้ได้ติดตั้งแล้ว 90.31% เงื่อนไขที่กรมฯ กำหนดมีเพียงการบันทึกความเร็ว ตำแหน่ง และข้อมูลของคนขับเท่านั้น แต่บริษัทสามารถนำข้อมูลจากอุปกรณ์เหล่านี้ มาประยุกต์ใช้และพัฒนาเพื่อสร้างระบบดูแลฟลีทรถให้กลายเป็นการจัดการยานยนต์แบบอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการบริการ
จำนวนรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศไทย นับรวมรถปิคอัพที่ใช้ในการสัญจรปริมาณ 32.88% ที่มีอายุการใช้งานของรถมากกว่า 20 ปี เอบีม คาดคะเนว่าในอีก 9 ปีข้างหน้า จะมีปริมาณรถยนต์ ที่มีน้ำหนักมากกว่า 2.5 ตันมากถึง 506,000 คัน (หรือ 38.56 % ของจำนวนรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ) ส่งผลให้ค่าบำรุงรักษารถจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อกำไรของบริษัท การนำระบบการบริหารยานพาหนะ และการขนส่งครบวงจรมาใช้งาน เช่น วางแผนเส้นทางการเดินรถเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดจำนวนรอบในการขนส่ง ติดตามพฤติกรรมการขับขี่เพื่อลดอุบัติเหตุ รวมถึงบำรุงรักษารถยนต์เชิงป้องกันเพื่อยืดอายุการใช้งาน จะทำให้เพิ่มความยืดหยุ่น ลดต้นทุน และเสริมประสิทธิภาพในการจัดการเพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดได้