ประมาณการณ์ตัวเลขความต้องการบุคลากรในอีอีซี หรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีสูงถึง 475,668 อัตราใน 5 ปี และกว่า 50 % เป็นความต้องการกำลังคนในระดับอาชีวะศึกษา
นี่ก็คือโอกาส…ที่มาพร้อมกับจุดเปลี่ยนของความเชื่อและการสร้างค่านิยมใหม่ที่มีต่อการเรียนสายอาชีวศึกษา ซึ่งทุกภาคส่วนพร้อมที่จะส่งเสริม และผลักดันให้คนเก่งเข้าสู่ระบบอาชีวศึกษามากขึ้น
อย่างเช่น การยกระดับทักษะความสามารถด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อวันที่ 2-4 เมษายนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี (EEC) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ( เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) แบบเข้มข้นสำหรับบุคลากรระดับอาชีวศึกษาในเขต EEC
ความสำคัญของการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมในเขตพื้นที่ EEC นั้น “ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล” รองผู้อำนวยการ สวทช. บอกว่า จะมุ่งเน้นขับเคลื่อนพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการศึกษาวิจัยและพัฒนากับต่างประเทศ มีการส่งเสริมเยาวชนให้เกิดการเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และแรงบันดาลใจในการเรียนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเน้นการทำงานร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมและยกระดับทักษะบุคลากรอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีการสร้างและพัฒนาทักษะความสามารถของบุคลากรในอุตสาหกรรมผ่านกลไก Train The Trainer เพื่อเป็น “ตัวคูณ” ในการนำความรู้ไปต่อยอดและพัฒนาทักษะความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่อุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ฯ
ขณะที่ “นางธัญรัตน์ อินทร” ผู้ช่วยเลขาธิการด้านนโยบายและแผน สกพอ. บอกว่า ทิศทางการพัฒนากำลังคนในพื้นที่ EEC มุ่งเน้น Demand Driven ซึ่งที่ผ่านมา สกพอ. ได้ผลักดันการพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการและเทคโนโลยี ด้วยการฝึกอบรมระยะสั้นใน 3 รูปแบบ ได้แก่ Newskill, Reskill และUpskill เพื่อให้นักศึกษาอาชีวศึกษาได้มีโอกาส “เรียนฟรี มีงานทํา และรายได้สูงขึ้น” โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการภายใต้รูปแบบ EEC Model ในการพัฒนาหลักสูตรจัดฝึกอบรม คัดเลือกนักศึกษาเข้าไปฝึกงานจริงในสถานประกอบการระหว่างเรียน โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดและที่พักระหว่างฝึกงาน และรับนักศึกษาเข้าทํางานโดยได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่าราคาตลาด
ดร.ธวัชชัย อุ่ยพานิช ที่ปรึกษาด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อดีตรองเลขาธิการ คณะกรรมการการอาชีวศึกษา) กล่าวว่า สอศ. ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่วิทยาลัยเทคนิค บางแสน และได้ขยายศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคน ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค เป็น 1 ศูนย์กลาง 6 ศูนย์ภูมิภาค 18 ศูนย์กลุ่มจังหวัด โดยรวบรวมข้อมูลทั้งอุปสงค์และอุปทานเพื่อที่จะวางแผนกำลังคนให้สอดรับกับความต้องการของสถานประกอบการ ทางศูนย์ฯ เล็งเห็นถึงความจำเป็นและได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะด้าน IIoT ของเนคเทค โดยคาดว่านักศึกษาระดับอาชีวศึกษาที่ผ่านการอบรมในโครงการจะมีทักษะสามารถติดตั้ง ใช้งาน ควบคุม และดูแลรักษาระบบที่เกี่ยวกับ IIoT ในสถานประกอบการหรือโรงงานในเขตพื้นที่ EEC เสริมสมรรถนะที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี
ด้าน ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) บอกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมไทยไปสู่ Industry 4.0 หรือการพัฒนาโรงงานให้เป็น Smart Factory ต้องมี 3 ปัจจัยสนับสนุน คือ เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และกำลังคนที่เชี่ยวชาญ เนคเทค สวทช. ได้เข้าไปมีบทบาทในทั้งสามปัจจัย คือ ในด้านเทคโนโลยี เนคเทค เป็นหน่วยงานวิจัยที่มีผลงานวิจัยซึ่งถูกพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการรองรับเทคโนโลยีเหล่านี้โดยตรง
ทั้งนี้ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เนคเทค สวทช. มีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ SMC เป็นส่วนหนึ่งของเมืองนวัตกรรม ARIPOLIS ภายใต้เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ที่มีอุปกรณ์และเครื่องจักรสมัยใหม่สำหรับการพัฒนาแพลตฟอร์มและโซลูชันเพื่อช่วยยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และในด้านกำลังคน การดำเนินโครงการพัฒนาทักษะด้าน IIoT แบบเข้มข้นสำหรับบุคลากรระดับอาชีวศึกษาในพื้นที่ EEC นี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงานภายใต้โครงการ SMC ซึ่งได้รับงบประมาณภายใต้แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
ซึ่งเทคโนโลยี IoT และ IIoT ถือเป็นเทคโนโลยีรากฐานที่สามารถต่อยอดไปสู่เทคโนโลยีอื่น ๆ ของอุตสาหกรรม 4.0 ได้โดยเปรียบเสมือนบันไดขั้นแรกที่จะเข้าไปช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อข้อมูลในโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท และจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังคนที่มีทักษะเข้าไปดูแลระบบ ซึ่งกำลังคนสายอาชีวะสามารถที่จะเข้ามามีบทบาทตรงนี้ได้
โครงการพัฒนาทักษะด้าน IIoT ดังกล่าว มีระยะเวลาโครงการ 3 ปี (2564-2566) เพื่อยกระดับการเรียนการสอนระดับอาชีวศึกษาให้มีความทันสมัยด้วยหลักสูตรเรื่อง IoT และ IIoT ใช้แนวทางของ Demand Driven ของ สกพอ. ในการประสานความร่วมมือสามเส้าของเนคเทค สวทช. วิทยาลัยอาชีวศึกษา 16 แห่ง และสถานประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดยเนคเทคจะพัฒนาหลักสูตรร่วมกับวิทยาลัยเพื่อนำไปบูรณาการกับหลักสูตรที่ใช้สอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง
“ในปีแรก เนคเทคอบรมให้กับครูและนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกจากแต่ละวิทยาลัย ในปีต่อ ๆ ไป จะเน้นการอบรมครูแบบ Train the Trainer และให้ครูไปสอนต่อในวิทยาลัย โดยนักศึกษาที่ผ่านการอบรมจะถูกส่งไปฝึกงานในโรงงานต่าง ๆ เพื่อผลิตกำลังคนอาชีวะที่มีทักษะสูง สามารถลงมือปฏิบัติได้จริง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความต้องการของกำลังคนอาชีวะในตลาดงานและนำไปสู่การยกระดับค่าตอบแทนของสายอาชีวะอย่างเป็นรูปธรรมได้ในอนาคต”
ทั้งนี้ที่ผ่านมาโครงการได้มีการระดมสมองรับโจทย์ความต้องการจากภาคอุตสาหกรรม พบว่ามีความสนใจที่จะนำเทคโนโลยีไอโอทีไปประยุกต์ใช้ในโรงงานในหลากหลายด้าน เช่น การซ่อมบำรุง การวัดประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักร การติดตามการผลิต การจัดการพลังงาน ซึ่งโครงการ ฯได้มีการจัดอบรมพื้นฐานในรูปแบบออนไลน์ไปแล้วให้แก่อาจารย์ 30 คนและนักศึกษา 70 คน
และก่อนที่จะที่นักศึกษาและครูกลุ่มแรกนี้ จะเข้ารับการอบรมในหลักสูตร Industrial Internet of Things (IIoT) ในช่วงปลายเดือน และหลังจากนั้นนักศึกษาจะไปฝึกงานในโรงงานอุตสาหกรรม
เพื่อวัดผลการอบรมพื้นฐานที่ผ่านมา โครงการได้จัดการแข่งขัน “IoT Hackathon 2021 Gen R” ขึ้น เพื่อให้นักศึกษาที่ผ่านการอบรมจากโครงการฯ ได้ฝึกฝนทักษะการประยุกต์ใช้ IoT ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ สร้างแรงบันดาลใจและความเชื่อมั่นที่จะนำประสบการณ์ที่ได้ไปปรับใช้เมื่อเข้าไปฝึกงานยังสถานประกอบการต่างๆ โดยกิจกรรมนี้ได้รับความสนับสนุนจาก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัททีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด
“นายปิยวัฒน์ จอมสถาน” วิศวกรทีมระบบไซเบอร์-กายภาพ หน่วยทรัพยากรด้านการคำนวณและไซเบอร์-กายภาพ เนคเทค สวทช. บอกว่า รูปแบบการแข่งขันเน้นการประยุกต์ความรู้ที่ได้ในการอบรมพัฒนาทักษะด้าน IoT การสร้างระบบ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ ฝึกการแก้ไขสถานการณ์ และฝึกการวางแผนการทำงานด้าน IoT เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เรียนสามารถ ทำได้ ทำเป็น ก่อนส่งผู้เรียนไปสู่การฝึกงาน
โจทย์การแข่งขันมีให้เลือก 5 เรื่อง คือ อุตสาหกรรม เกษตร ชุมชน สถานศึกษา ที่อยู่อาศัย ซึ่งจะใช้ I-Box เป็นอุปกรณ์กลางสำหรับการแข่งขัน และใช้ I-Kit ที่ใช้ในการอบรมร่วมกับอุปกรณ์อื่น เช่น Sensor ชนิดๆ ต่าง ที่ผู้เข้าแข่งเลือกใช้ ตามหัวข้อผลงานที่นำเสนอ เกณฑ์การตัดสิน วัดระดับความซับซ้อนของแนวคิดการออกแบบ การเลือกใช้เครื่องมือ การนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงโดยการทดสอบใช้งาน
จากการแข่งขันที่ใช้เวลาถึง 36 ชั่วโมง ในการเฟ้นหาทีมเยาวชนคนอาชีวะ ที่สามารถนำความรู้ที่อบรมไปต่อยอดการพัฒนาผลงานเป็นรูปธรรมและชัดเจน
ผลปรากฏว่าทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศไปครองคือ ทีม PTC โบ๊ะบ๊ะ จากวิทยาลัยเทคนิคพัทยา จังหวัดชลบุรี จากผลงาน Smart Warehouse ระบบจัดการคลังสินค้า ซึ่งใช้ Flame Sensor ตรวจจับการเกิดอัคคีภัยเมื่อมีเหตุเพลิงไหม้ จะสั่งให้ Sprinkler ทำงานเพื่อยับยั้งเหตุเพลิงไหม้ และใช้ Air Quality Sensor ตรวจจับค่าปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้สูงเกินค่ามาตรฐานจนเกิดความเสี่ยงต่อบุคลากรและคลังสินค้า ถ้าตรวจพบค่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง Sensor จะทำการเปิดพัดลมดูดอากาศเพื่อระบายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินผ่าน Blynk และไลน์ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ และ ยังสามารถช่วยเก็บข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆได้อีกด้วย
ส่วนรางวัลที่ 2 คือ ทีม Bk.tech#1 จากวิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย จังหวัดระยอง จากผลงาน Safety and Protect ระบบระวังภัยท่ออุปกรณ์ที่รับค่าอินพุท ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายจากความผิดพลาด ของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม รางวัลที่ 3 คือ ทีม Above me จากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จากผลงาน Alert Box ระบบตรวจสอบคลังสินค้า Alert box ที่ช่วยนับจำนวนชิ้นงานที่ทำการปั๊มเสร็จสมบูรณ์ก่อนเข้าสโตร์ และรางวัลชมเชย 2รางวัลคือ ทีมมะพร้าวอ่อน จากวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา จากผลงาน SMART HOSPITAL ระบบมอนิเตอร์ Clean Room และทีม CHONTECH จากวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี จากผลงาน Clean Room ในโรงงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
เนคเทค สวทช.มีการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรการอบรมดังกล่าวร่วมกับพันธมิตร รวมถึงผู้ประกอบการและวิทยาลัยอาชีวะต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดหวังกันว่า การริเริ่มยกระดับทักษะด้านไอโอทีให้กับน้องๆ อาชีวะครั้งนี้ จะไม่หยุดอยู่แค่ในเขตพื้นที่ EEC แต่จะขยายผลไปสู่เด็กอาชีวะทั่วประเทศในอนาคต.