รมว.ดีอีเอส นำทีม เอ็นที พร้อมหัวเว่ย มอบระบบสื่อสาร เทเลเมดิซีน รพ.สนามบางขุนเทียน อำนวยความสะดวกลดความเสี่ยงให้แพทย์ตรวจผู้ป่วยโควิด เร่งขยายติดตั้งระบบทั่วประเทศ พร้อมเตือนผู้โพสต์ Fake News เป็นการทำผิดกฎหมายเร่งดำเนินคดีทุกราย
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT และนายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมส่งมอบระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบ เทเลเมดิซีน กล้องCCTV ชุด PPE และถุงยังชีพเพื่อมอบให้ผู้ป่วยโควิด-19 โดยมี นายศุภรัช สุวัฒนพิมพ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เป็นผู้รับมอบ ที่ขณะนี้ใช้เป็นโรงพยาบาลสนามรองรับดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดจำนวน 1000 เตียง
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)กล่าวว่า ได้ส่งมอบระบบสื่อสารโทรคมนาคมและระบบเทเลเมดิซีนให้แก่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน พร้อมกับตรวจสอบคุณภาพสัญญาณสื่อสารในจุดต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะสามารถให้บริการ Internet Wi-Fi ฟรีรองรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ตลอดจนสามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยโควิดสามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ หมอสอบถามอาการผู้ป่วยโดยไม่ต้องมาเจอ เพื่อลดความเสี่ยงมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยนำร่องใช้ที่โรงพยาบาลสนามบางขุนเทียน และจะขยายติดตั้งให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ อีกในอนาคต
ทั้งนี้กระทรวงดีอีเอสตระหนักถึงความจำเป็นเร่งดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และที่ผ่านมาทาง NT ก็ได้ดำเนินการสนับสนุนติดตั้งระบบ Internet Wi-Fi ระบบโทรศัพท์ IP Phone รวมถึงระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อให้บริการกับเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยโควิด-19 ได้ใช้ในการติดต่อสื่อสาร โดยที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ดำเนินการติดตั้งแล้วตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2564 ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 4 เฟส ยังได้เข้าติดตั้งระบบทั้งหมดให้แก่โรงพยาบาลสนามในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
นายแพทย์ศุภรัช สุวัฒนพิมพ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี เพื่อช่วยในงานของโรงพยาบาลสนามว่า “ทางโรงพยาบาลต้องขอขอบคุณกระทรวงดิจิทัลและบริษัท หัวเว่ย ประเทศไทย ที่ได้ร่วมนำนวัตกรรมเทคโนโลยีและโครงข่ายด้านการติดต่อสื่อสารเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ สถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาด ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมสำหรับการช่วยคัดกรองอาการไข้ การบริหารจัดการและควบคุมพื้นที่ เนื่องจากโรงพยาบาลสนามมีภารกิจที่ต้องดูแลผู้ป่วยมากถึง 1,000 เตียง ซึ่งถือว่ามากที่สุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร การมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการในเรื่องเหล่านี้ จะช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ผมมั่นใจว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนทางการแพทย์ จะช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ได้”
ด้านนายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยในขณะนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นตัวช่วยสำคัญของภาคสาธารณสุขในการรับมือกับปัญหาเรื่องการขาดแคลนทางการแพทย์ และในฐานะที่บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี เป็นพาร์ทเนอร์ด้าน ICT ที่ได้รับความไว้วางใจในประเทศไทย หัวเว่ยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐ สถานพยาบาล และทีมบุคลาการทางการแพทย์ในการรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 โดย ได้ระดมทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าติดตั้งระบบโซลูชันที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเสถียรภาพของการสื่อสาร เช่น นวัตกรรมการสื่อสารทางไกล 5G เพื่อการแพทย์ (5G Telemedicine) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลการวินิจฉัย การรักษาและการป้องกันโรค รวมทั้งลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้กับบุคลากรการแพทย์ ระบบโครงข่ายวิทยุสื่อสารไร้สายบรอดแบนด์ eLTE (eLTE broadband trunking) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความเสถียรภาพของการสื่อสารในด้านการประสานงานในช่วงเวลาสำคัญผ่านโครงข่ายไร้สายแบบบรอดแบนด์แบบเฉพาะ (Private network) ที่สามารถทำการสื่อสารผ่าน ภาพ เสียง วีดีโอ และแสดงพิกัด (Location service) ของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ผ่านโครงข่ายวิทยุไร้สาย eLTE ซึ่งสามารถทำงานโดยไม่ต้องพึ่งพาโครงข่ายของผู้ให้บริการ (Public network) หลีกเลี่ยงความแออัดจากการใช้งานโครงข่าย (traffic congestion) ของประชาชน
“นอกจากนี้เรายังติดตั้ง ระบบบริหารจัดการผู้ป่วยอัจฉริยะ (Inpatient area Intelligent Management) เพื่อส่งเสริมการจัดให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างทันท่วงที และลดภาระการทำงานให้แก่บุคลากรในพื้นที่ นวัตกรรมเหล่านี้ทำงานบนเครือข่าย 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แพทย์ ช่วยป้องกันให้กับบุคลากรทุกคนในโรงพยาบาลสนาม และช่วยทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันของไทยดีขึ้น”
ส่วนระบบแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ที่รับผิดชอบโดยกระทรวงสาธารณสุข นายชัยวุฒิ กล่าวว่า แม้ว่าทางกระทรวงดิจิทัลจะ ไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง แต่จะเข้าไปช่วยดูในเรื่องของ การคุ้มครอง ข้อมูลส่วนบุคคล เรื่องความปลอดภัยของข้อมูล และความพร้อม ของระบบ หมอพร้อมเพื่อรองรับการใช้งานของประชาชนให้ไม่มีปัญหา ต้องยอมรับว่า แอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” เป็นเหมือนตัวช่วยในการลงทะเบียนฉีดวัคซีน แต่หากประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ก็สามารถไปติดต่อโรงพยาบาลมีข้อมูลผู้ป่วยหรือโรงพยาบาลตำบลได้
“สำหรับการปล่อยข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์ เกี่ยวกับเรื่องโควิดแพร่ระบาด ในขณะนี้ที่พบว่ามีจำนวนมาก รวมถึงพบว่าฝ่ายการเมืองก็นำเรื่องนี้มาขยายผลจนตีรัฐบาล จึงขอส่งสัญญาณไปถึงบุคคลที่โพสต์เฟสนิวส์เหล่านี้ว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย กระทรวงจะดำเนินการ รวบรวมหลักฐานเพื่อเอาผิดทุกคนที่กระทำการดังกล่าว พร้อมทั้งขอเตือนประชาชนระมัดระวังการนำมาใช้ หรือแชร์ ต่อๆกัน เพราะเป็นเรื่องที่สร้างความเสียหาย ให้กับประชาชน ตื่นตระหนก และสร้างปัญหาให้กับบ้านเมืองอย่างมาก พร้อมขอให้ตรวจสอบที่มาของข้อมูลก่อนว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ก่อนที่จะเผยแพร่หรือแชร์ออกไป ต้องมีความระมัดระวัง”