วิศวะมหิดลจับมือ วช. และกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาแพลตฟอร์ม ระบบติดตาม-ตรวจสอบย้อนกลับ “โซ่ความเย็น” วัคซีนโควิด-19 เพื่อคนไทยมั่นใจได้เพื่อสร้างความมั่นใจและประสิทธิภาพของการกระจายวัคซีนโควิด-19
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในประเทศไทยยังไม่เคยมีการฉีดวัคซีนครั้งใดที่จะเป็นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นนี้มาก่อน โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะฉีดวัคซีนต้านโควิดให้ครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคน หรือคิดเป็น 70 % ของจำนวนประชากรภายในสิ้นปี 2564 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ต่อไวรัสโควิด-19 จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน วัคซีนต้านโควิด-19 ได้เริ่มทยอยเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว การฉีดวัคซีนโดยพร้อมเพรียงกันจะสร้างความมั่นคงทางสุขภาพแก่ครอบครัวและประเทศ
ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับการฉีดอย่างมั่นใจและรวดเร็วตามเป้าหมาย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกระทรวงสาธารณสุข ออกแบบพัฒนาแพลตฟอร์ม ระบบติดตาม-ตรวจสอบย้อนกลับ “โซ่ความเย็น” วัคซีนโควิด-19 (COVID-19 Vaccines Track and Traceability Platform for Cold Chain and Patient Safety) สำหรับติดตามและตรวจสอบย้อนกลับ ข้อมูลของวัคซีน โดยระบบแพลตฟอร์มนี้เชื่อมต่อและรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าถึงกัน เพื่อความถูกต้องแม่นยำ ควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพรวดเร็วจากต้นทางถึงปลายทาง
โดยการเชื่อมโยงข้อมูลมาจากทุกภาคส่วนในการกระจายวัคซีน ได้แก่ คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), องค์การเภสัชกรรม (GPO), กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กรมควบคุมโรค, บริษัทผู้นำเข้า, ผู้ขนส่งวัคซีน, กองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และความร่วมมือจากภาคเอกชน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, บริษัท AI and Robotics Venture (ARV) และบริษัท โนวากรีน เพาเวอร์ ซิสเท็ม จำกัด
“ปัจจุบันแพลตฟอร์ม ดังกล่าวได้เริ่มใช้ในการดำเนินงานแล้ว ตั้งแต่ กลางเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมานับเป็นต้นแบบการเชื่อมโยงข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการโซ่ความเย็นของวัคซีน (Cold Chain) สู่ภาคสาธารณสุขไทยเป็นครั้งแรก โดยเชื่อมโยงข้อมูล และจัดการกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วถึงอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคงคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด ตั้งแต่ต้นทางผู้ผลิตวัคซีนไปยังสถานพยาบาล จนถึงปลายทางผู้รับบริการ พร้อมทั้งสามารถติดตามตรวจสอบย้อนกลับ (Track and Traceability) และเรียกคืน (Recall) วัคซีนได้”
ด้านรศ.ดร. ดวงพรรณ กริชชาญชัย อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และหัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันมีวัคซีนที่ทยอยเข้ามาฉีดแก่ประชาชนแล้ว ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) , ซิโนแวค (Sinovac) และอื่นๆที่จะตามมา เช่น ไฟเซอร์ (Pfizer) สปุตนิต วี (Sputnik V) และอื่นๆ หน้าที่ของแพลตฟอร์มระบบติดตาม-ตรวจสอบย้อนกลับ โซ่ความเย็นวัคซีนโควิด-19 นี้ จะแสดงผลรายละเอียดวัคซีนทั้งหมด ตั้งแต่การผลิตวัคซีน ทั้งในประเทศและการนำเข้า การจัดเก็บวัคซีน การขนส่งและกระจายวัคซีน COVID-19 ว่าขนส่งด้วยพาหนะอะไร เมื่อไร ไปที่ไหน ให้ใคร รวมถึงข้อมูลการควบคุมความเย็นของระดับอุณหภูมิตลอดโซ่อุปทาน ตั้งแต่บริษัทผู้ผลิต ผู้ขนส่ง ไปจนถึงโรงพยาบาลผู้ให้บริการ และประชาชนผู้รับบริการ เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของประชาชนและบุคลากร ที่ได้รับวัคซีนมีความมั่นใจว่าคุณภาพของวัคซีนที่ได้รับนั้น มีประสิทธิภาพและคงคุณภาพตามมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ ระบบติดตาม-ตรวจสอบย้อนกลับ “โซ่ความเย็น” วัคซีนโควิด-19 จะนำชุดข้อมูลของแต่ละหน่วยงานที่ได้กรอกไว้ในระบบกลาง Co-Vaccine ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งข้อมูลการลงทะเบียนบริษัทผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าวัคซีน ตลอดจนผู้รับบริการวัคซีน มาเชื่อมต่อข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม เพื่อแสดงผลด้าน Supply Chain and Logistics หากเกิดปัญหาขึ้น สามารถเรียกคืนวัคซีนได้รวดเร็วทันสถานการณ์ เช่น ปัญหาวัคซีนระบุวันหมดอายุไม่ชัดเจน มีรอยแก้ไข เป็นต้น แพลตฟอร์มนี้จะสืบค้นได้ว่าวัคซีนที่มีปัญหาอยู่ที่ไหน ฉีดให้ใคร และเรียกคืนได้เร็ว
ในด้านการเก็บรักษาวัคซีน โดยใช้ระบบลูกโซ่ความเย็น (Cold Chain) จำเป็นต้องรักษาอุณหภูมิให้คงที่ โดยวัคซีนที่ประเทศไทยนำเข้าในปัจจุบัน คือ แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca), ซิโนแวค (Sinovac) จะต้องมีอุณหภูมิคงที่ประมาณ 2 – 8 องศา ตลอดโซ่อุปทาน โดยมีระบบ Sensor Monitoring คอยตรวจระดับรักษาความเย็นและคอยเก็บข้อมูล ติดไว้ที่รถขนส่ง และตู้แช่วัคซีนในรพ. นอกจากนี้ ระบบติดตาม-ตรวจสอบย้อนกลับ “โซ่ความเย็น”วัคซีนโควิด-19 สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ตลอดโซ่ความเย็น (Cold Chain) ผ่านระบบ IoT ตั้งแต่ข้อมูลผลิตภัณฑ์ ปริมาณ วัคซีนที่ผลิต นำเข้าหรือจัดซื้อ, อุณหภูมิการจัดเก็บ จำนวนและชนิดของวัคซีนที่กระจายไปให้แต่ละโรงพยาบาล, และข้อมูลผู้รับบริการวัคซีน โดยแต่ละกล่องของวัคซีนนั้นจะมีหมายเลข Serial ระบุอยู่ เพื่อป้องกันการผิดพลาด สร้างความมั่นใจแก่ประชาชนได้อย่างดี และก้าวผ่านวิกฤติไปพร้อมกันเพื่อคนไทยและประเทศไทยของเรา