วิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ชูระบบสารสนเทศสุดล้ำ ช่วยโรงพยาบาลสนาม เชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ ส่งตรงถึงมือแพทย์ แบบไร้สัมผัส แนะรัฐบาลยกระดับโรงพยาบาลสนาม ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
วันนี้( 13 พฤษภาคม 2564)คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering) หรือ TSE เปิดตัว “ชุดเฉพาะกิจด้านวิศวกรรม โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์” พลิกโฉมหอพักบุคลากรเป็นโรงพยาบาลสนามเต็มรูปแบบ พร้อมใช้งานทั้งระบบภายใน 24 ชั่วโมง ตั้งแต่การวางแผน ออกแบบ จนถึงการติดตั้ง
นายวัชระ อมศิริ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ในฐานะหัวหน้าชุดเฉพาะกิจด้านวิศวกรรม โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) เปิดตัว “ชุดเฉพาะกิจด้านวิศวกรรม โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์” เพื่อเข้าช่วยเหลืองานของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ทันที เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยเป็นโรงพยาบาลสนามอีกครั้ง จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ เพื่อพลิกโฉมหอพักบุคลากรให้เป็นโรงพยาบาลสนามที่พร้อมใช้งานเต็มระบบ โดย TSE บูรณาการความรู้ทางวิศวกรรมในการวางแผน ออกแบบ และติดตั้งระบบสารสนเทศและโทรคมนาคมภายในโรงพยาบาลสนามให้พร้อมใช้งานเต็มระบบได้ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเร็วที่สุดในประเทศไทย
ทั้งนี้ระบบสารสนเทศและโทรคมนาคมของ TSE เป็นหัวใจสำคัญของการสื่อสารระหว่างทีมแพทย์และผู้ป่วย ช่วยให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้แบบเรียลไทม์ สื่อสารกับทีมแพทย์ได้ตลอดเวลา ด้วยระบบการติดตามอาการโดยไร้การสัมผัส ซึ่ง TSE เน้นการบูรณาการให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทีมแพทย์ ซึ่งช่วยให้สามารถจำแนกอาการของผู้ป่วยแต่ละระดับได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการ ในขณะที่บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนฉับพลันถึงขั้นเสียชีวิตได้ และระบบนี้ยังช่วยลดความเหนื่อยล้าของทีมแพทย์จากการสวมชุด PPE เป็นเวลานาน โดย TSE เล็งเห็นถึงสภาพปัญหาเหล่านี้ และใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรมเข้าไปบูรณาการให้ความช่วยเหลือทันที ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
“หัวใจสำคัญของชุดเฉพาะกิจด้านวิศวกรรม โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ คือ ช่วยให้ทีมแพทย์มีระบบสารสนเทศและโทรคมนาคมที่สมบูรณ์แบบ พร้อมใช้งานเต็มระบบ ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมา TSE ได้นำประสบการณ์ที่มีทั้งหมดจากการเปิดโรงพยาบาลสนาม ตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด 19 รอบแรกจนถึงปัจจุบัน และนำข้อบกพร่อง รวมถึงการรับฟังสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานของทีมแพทย์ นำมาต่อยอดพัฒนาทางวิศวกรรม เพื่อแก้ปัญหาและอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เชื่อมโยงการรักษาจากทีมแพทย์ไปสู่ผู้ป่วยแบบไร้รอยต่อ โดยไร้การสัมผัสให้มากที่สุด ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นระบบสารสนเทศและโทรคมนาคมในโรงพยาบาลสนามที่สมบูรณ์แบบที่สุด และสามารถวางแผน ออกแบบ จนกระทั่งการติดตั้งระบบได้รวดเร็วที่สุดของไทย”
นายวัชระ กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในปัจจุบัน ที่มีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งอาจส่งผลต่อความพร้อมของการตั้งโรงพยาบาลสนามในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีข้อกำจัดด้านทรัพยากร บุคลากร ในขณะที่ต้องอาศัยความรวดเร็วในการทำงาน เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ในภาวะวิกฤติ จึงเกิดปัญหาผู้ป่วยเลือกโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษา ซึ่งการเดินทางข้ามเขต ข้ามจังหวัดในสถานการณ์เช่นนี้ มีความเสี่ยงต่อการกระจายของไวรัสไปในวงกว้าง ดังนั้น TSE จึงมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลให้เปิดกว้างในการระดมความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่มีศักยภาพทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา ที่มีความพร้อมทั้งทรัพยากรและองค์ความรู้ เพื่อช่วยยกระดับโรงพยาบาลสนามและระบบสาธารณสุขให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ อาทิ การวางระบบสารสนเทศและโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพักรักษาตัว การคัดกรองที่แม่นยำ รวดเร็ว เพื่อส่งต่อผู้ป่วยวิกฤติ ลดการกระจายเชื้อของผู้ป่วยวิกฤติภายในสถานพยาบาล โดยทีมแพทย์ไม่ต้องกักตัวจากการสัมผัสเสี่ยงสูงโดยไม่จำเป็น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาผู้ป่วยเลือกโรงพยาบาล โดยยึดหลัก “ใกล้ที่ไหน รักษาที่นั่น”
สำหรับการทำงานของ TSE ในฐานะชุดเฉพาะกิจด้านวิศวกรรม โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เกิดขึ้นภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาทิ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะแพทยศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ (TSE) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ซึ่งเป็นปฏิบัติการร่วมในการรับมือสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 โดย TSE ได้มีส่วนสำคัญในการทำงานของโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ตั้งแต่มีการระบาดรอบแรกจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดย TSE มีความภาคภูมิใจที่มีส่วนช่วยในการสนับสนุนงานด้านวิศวกรรมให้เกิดประโยชน์กับทางการแพทย์และระบบสาธารณสุข โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ต้นทุนต่ำ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่ง TSE ยินดีที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าว แก่หน่วยงานที่สนใจอีกด้วย โดยปัจจุบัน TSE มีหลักสูตรด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวกับการวางระบบสารสนเทศและโทรคมนาคมที่ทันสมัย ได้แก่ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ และหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Soft-en) ในโครงการหลักสูตรนวัตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ (Programme of Innovative Engineering) หรือ TU-PINE
ทั้งนี้ TSE กำลังเปิดรับสมัครคัดเลือกนักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา 2564 ผ่านระบบ TCAS 64 ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ TSE ได้ที่ www.engr.tu.ac.th และ Facebook Fanpage ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT