สดร.เผยภาพ “จันทรุปราคาบางส่วน” คืนวันวิสาขบูชา เหนือฟ้าเมืองไทย โชคดีบันทึกภาพได้ในช่วงท้ายของปรากฏการณ์ ปรากฏชัดเต็มตา หากพลาดรอชมจันทรุปราคาเต็มดวงอีกครั้ง 8 พฤศจิกายน 2565
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยภาพจันทรุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย ในช่วงหัวค่ำคืนวันวิสาขบูชา 26 พฤษภาคม 2564 บันทึกภาพได้ในช่วงท้ายของปรากฏการณ์ ปรากฏชัดเต็มตา ดวงจันทร์เต็มดวงมีลักษณะเว้าแหว่งบางส่วน เนื่องจากดวงจันทร์ผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก
สำหรับบรรยากาศการติดตามจันทรุปราคาบางส่วนในประเทศไทยในวันนี้ บางพื้นที่สามารถสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคาได้ อาทิ กรุงเทพฯ ขอนแก่น เชียงราย ลำปาง ตาก สุพรรณบุรี นครราชสีมา อุดรธานี สกลนคร ฯลฯ แต่อีกหลายพื้นที่ของประเทศมีเมฆค่อนข้างมาก โดยเฉพาะทางใต้มีฝนตกหนัก ไม่สามารถชมจันทรุปราคาด้วยตาเปล่าได้ จึงหันมาติดตามทาง Facebook Live ของ สดร. ซึ่งมีการถ่ายทอดภาพจากหอดูดาวต่าง ๆ ทั่วโลก ให้ชมกันอย่างจุใจ
จันทรุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย ในวันวิสาขบูชา วันที่ 26 พฤษภาคม นี้ สามารถสังเกตเห็น ตั้งแต่เวลา 18:38 น. บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ดวงจันทร์จะปรากฏเว้าแหว่งบางส่วนและค่อย ๆ ออกจากเงามืดของโลก จนกระทั่งเข้าสู่เงามัวหมดทั้งดวงในเวลา 19:52 น. เปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตได้ยาก และสุดท้ายดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลกเวลา 20:49 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์
ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่กลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ และเป็นจังหวะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงาของโลก ทำให้ผู้สังเกตบนโลกในพื้นที่กว่าครึ่งโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งหายไปในเงามืดแล้วโผล่กลับออกมาอีกครั้ง โดยจะเกิดขึ้นเฉพาะในคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำ หรือคืนวันดวงจันทร์เต็มดวงเท่านั้น เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง บางปีอาจมีได้มากถึง 5 ครั้ง ปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่จะสังเกตเห็นในประเทศไทยครั้งถัดไป เป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565
ติดตามชมภาพปรากฏการณ์เพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/NARITpage