เขียนโค้ดเพื่อเปลี่ยนโลก

i & Tech

วันก่อนมีโอกาสคุยกับน้อง 4 คน ซึ่งเขียนโค้ดด้วยภาษา  Swift   ผลงานของน้องๆ ทั้ง 4 คน ผ่านการคัดเลือกจากโครงการ Swift Student Challenge 2021

                ก่อนจะเริ่มงาน  Worldwide Developers Conference 2021  จะมีการประกวดผลโครงการ Swift Student Challenge 2021   ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนจากทั่วโลกเขียนโค้ดส่งผลงานเข้าประกวด

                การแพร่ระบาดของโรค COVID-19  ทำให้ Apple  ต้องจัดงานในรูปแบบออนไลน์  ตั้งแต่ปีที่แล้ว   ครั้งนี้ก็เช่นกันงาน WWDC21 จะเริ่มในวันที่ 7 มิ.ย.2564  คาดว่าจะมีนักพัฒนาหลายวัย เข้าร่วมงานนับล้านคนจากทั่วโลก

                ในจำนวนนี้ จะมีกลุ่มคนรุ่นเยาว์ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่พิเศษสุดรวมอยู่ด้วย

                นั่นก็คือผู้ชนะการแข่งขัน Swift Student Challenge จำนวน 350 คนจาก 35 ประเทศทั่วโลก

                ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันประจำปีสำหรับนักเรียนในงาน WWDC ของ Apple ซึ่งแต่ละคนได้แสดงให้เห็นถึงทักษะในด้านการเขียนโค้ดและการแก้ปัญหา ด้วยการส่ง Swift Playground ที่เป็นต้นฉบับของตนเองเข้ามา

                เกือบทุกปี จะมีผลงานของเด็กไทยผ่านการคัดเลือกได้เข้าร่วมงาน  ปีนี้ ได้น้องๆ  4 คน จากเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ 

                น้องแก้ม  ปรีณาพรรณ เสาร์เขียว  อายุ  18 ปี  เปิดเทอมนี้น้องแก้ม จะเข้าศึกษาต่อที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียง

ปรีณาพรรณ เสาร์เขียว

                น้องแก้ม ส่งผลงานชื่อ  Girl Guard แรงบันดาลใจที่ทำให้เธอเขียนโค้ดนี้  ก็เพราะว่า ในประเทศไทยเกิดการล่วงละเมิดทางเพศอยู่บ่อยครั้ง และมักเกิดขึ้นในที่สาธารณะ โดยมีเหยื่อเพียง 28% เท่านั้นที่กล้าแจ้งความหรือกล้าเล่าให้ผู้ปกครองฟัง จึงพัฒนา Girl Guard ขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หญิงทุกคน

                มี 2 ฟีเจอร์ให้เลือกใช้

                 Trustworthy Friend ลักษณะจะเหมือนกับ Fake Call ที่จะมีเสียงบทสนทนาปลอมไว้คุยด้วยขณะเดินทางคนเดียวโดยรถสาธารณะ อย่างน้อยๆ ก็ทำให้คนคิดไม่ดี หยุดชะงักความคิด

                Fight like a girl!  เป็นเสียงไซเรน  สำหรับกดขอความช่วยเหลือ หากตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง  สถานการณ์น่าอึดอัด เช่น อยู่บนรถประจำทางแน่นๆ แล้วบังเอิญเจอพวกประสงค์ร้ายทางเพศ เราอาจจะไม่กล้าร้องเสียงดัง ก็กดฟีจเจอร์ไซเรนให้ดังไปทั้งคัน

อภิภูมิ ชื่นชมภู

                น้องอภิ  อภิภูมิ ชื่นชมภู อายุ 16 ปี  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์  กับผลงาน Sudokuza!  เพราะชอบเล่นเกม sudoku มาก

                ถ้าเป็นมือใหม่ จะรู้ดีว่าเกมประเภทนี้ยากมาก จึงนำแนวคิดนี้มาออกแบบเกม ให้มีหลายระดับตั้งแต่ง่ายไปจนถึงยาก ออกแบบ User Interface ให้เข้าถึงง่าย มีคำแนะนำการเล่น

                ปัจจุบันอภิภูมิ มีแอปอยู่บน App Store ชื่อ OpenAPI  ซึ่งพัฒนาหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ต้องเรียนหนังสือทางออนไลน์  พบว่า แอปที่มีอยู่ไม่ตรงกับความต้องการใช้ จึงพัฒนาแอปขึ้นมาใหม่  ให้  Video Call และ แชท ได้จากในแอป  ตั้งเตือนให้ทำกิจกรรมต่างๆได้ เหมาะสำหรับการเรียนหรือการทำงานเป็นกลุ่ม

                ตอนนี้แอป OpenAPI ของอภิภูมิ ถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในโรงเรียน

                น้องไช้  นัธทวัฒน์ เขมัษเฐียร นักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวารี เชียงใหม่

นัธทวัฒน์ เขมัษเฐียร

               ส่งผลงาน ชื่อ Nature Disaster น้องไช้ บอกว่า เพลย์กราวนด์  Nature Disaster  รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติที่มักจะเกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติตัวหากประสบภัยพิบัติ โดยให้ข้อมูลทั้งในรูปแบบของตัวอักษรและเสียง

                ไอเดียนี้ เริ่มต้น จากการที่เห็นว่าประเทศไทยมีอากาศแปรปรวนบ่อย ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการเขียนโค้ด  ตั้งใจว่าในอนาคตอยากจะเชื่อมต่อข้อมูลกับกรมอุตุนิยมวิทยาเพื่อให้สามารถส่งแจ้งเตือนให้คนในแต่ละพื้นที่ได้

                สุดท้าย คือ น้องนาย  ศรีศุภดิตถ์ รัตนประเสริฐ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวารี เชียงใหม่ ชื่อผลงาน Unzheimer 

ศรีศุภดิตถ์ รัตนประเสริฐ

                เป็นแรงบันดาลใจ ที่เกิดจากในบ้าน ซึ่งมีคุณย่าอยู่ด้วย   พบว่าคุณย่ามักทำของหายหรือหาของไม่เจออยู่บ่อยๆ จึงอยากทำอะไรบางอย่าง ที่จะช่วยบันทึกที่ตั้งของสิ่งของ เพื่อช่วยจำใน Unzheimer  จะบันทึกสิ่งของจุดที่วางไว้ได้

                ผลงานการเขียนโค้ดของเด็กไทยทั้ง 4 คนที่ผ่านการแข่งขันปีนี้ แม้จะยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ยังไม่ได้พัฒนาไปสู่แอปให้ดาวน์โหลดใช้งานทั่วไป แต่น้องๆ บอกว่า  อยากต่อยอดไปสู่แอป อยากเห็นผลงานตัวเองในแอปสโตร์ 

                แต่เท่าที่เอาไปทดลองใช้กับคนในบ้าน พบว่า ตรงตามเป้าหมาย

                Susan Prescott รองประธานอาวุโสฝ่ายนักพัฒนาสัมพันธ์ทั่วโลก และการตลาดสำหรับองค์กรและการศึกษาของ Apple กล่าวว่า   ปีนี้ ภูมิใจเป็นพิเศษที่มีผู้หญิงสมัครเข้าแข่งขัน และได้รับชัยชนะมากขึ้น

                ในกลุ่มผู้ชนะระดับโลก เป็นเด็กสาวสามคน ซึ่งไม่เพียงแต่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริง หากยังมีส่วนร่วมในการสอนคนรุ่นถัดไปให้ทำสิ่งเดียวกันนี้อย่างขันแข็ง

                ที่ผ่านมา Apple ภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ส่งเสริมและหล่อหลอมนักพัฒนารุ่นถัดไปผ่านทางโปรแกรมสำหรับนักเรียนในงานประจำปี WWDC โดยตลอดช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา มีนักเรียนหลายพันคนได้ขัดเกลาทักษะของตัวเอง เชื่อมต่อกับนักเขียนโค้ดคนอื่นๆ ทุกวัย ซึ่งทุกคนต่างได้รับการหล่อหลอมอาชีพการงานด้านเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนาน ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่มีการร่วมลงทุน และสร้างองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เน้นการใช้เทคโนโลยี เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า

                มาช่วยกันเขียนโค้ด เพื่อเปลี่ยนเป็นสิ่งดีๆ ให้กับชุมชน ให้กับโลกกันค่ะ

ปรารถนา  ฉายประเสริฐ

prathana.chai@gmail.com

Facebook: ปรารถนาดี