อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะมีอิทธิพลในวงกว้าง ไม่เพียงหนุ่มสาวโรงงาน ผู้จัดการ หรือผู้บริหารโรงงานอุตสาหกรรม แต่รวมถึงภาคธุรกิจ ภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่และรายย่อย ล้วนสามารถบูรณาการธุรกิจและกระบวนการผลิตของตนเองให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกที่แปรผันไปอย่างรวดเร็ว
หากอุตสาหกรรมไทยสามารถก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 จะผลักดันให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจ เกิดโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนระบบนิเวศอุตสาหกรรม 4.0 และเกิดการพัฒนาขีดความสามารถของแรงงานฝีมือ (Skilled Labor) ในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการสร้างอาชีพทำให้อัตราการว่างงานลดลง
แต่การก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 นั้น จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายด้าน ดังนั้นการทราบสถานะความพร้อมของอุตสาหกรรม ณ ปัจจุบัน จะทำให้การก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 มีความเป็นมาตรฐาน ตามลำดับที่เหมาะสมกับบริบทของอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง
กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้มีการคิดค้นดัชนีชี้วัดความพร้อมของอุตสาหกรรมไทย (Thailand i4.0 Index) ขึ้น เพื่อเป็นตัวชี้วัดที่มีความเหมาะสมกับบริบทประเทศและสังคมไทยมากที่สุด ลดการพึ่งพาระบบการประเมินของต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของข้อมูลรั่วไหล และสร้างอาชีพผู้รับเหมาระบบให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
ทั้งนี้ดัชนีชี้วัดความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 สำหรับประเทศไทย หรือThailand i4.0 Index ก็คือ กระบวนการการประเมินศักยภาพความพร้อมของผู้ประกอบการ โรงงาน เเละบริษัท โดยทำการลำดับการปรับปรุงโรงงานในด้านต่าง ๆ ทำให้สามารถจัดหาผู้รับเหมาระบบ (SI) ซึ่งตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของโรงงานนั้น ๆ ได้อย่างครบถ้วน รวมถึงนำดัชนีชี้วัดความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 มาประเมินศักยภาพและความเหมาะสมของผู้รับเหมาระบบ เพื่อทำให้โรงงานสามารถพัฒนาศักยภาพไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้
ดัชนีชี้วัดความพร้อมของอุตสาหกรรม 4.0 จะมีผลอย่างมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) และเป็นการยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมไทย ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการมีองค์ความรู้เรื่องการปรับปรุงองค์กรให้เป็นมาตรฐานเพิ่มขึ้น และทราบว่าจะต้องปรับปรุงองค์กรของตนในด้านใด และต้องปรับปรุงถึงระดับใดจึงจะถือว่าเข้าสู่องค์กรแห่งยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยสามารถแบ่งเป็น 6 มิติ (Dimensions) ได้แก่
1.Technology (เทคโนโลยี) หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตแบบอัตโนมัติ ตั้งแต่การควบคุมการผลิต การจัดการสถานที่และองค์กร และเชื่อมต่อทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน
2. Smart Operation (การดำเนินงานที่ชาญฉลาด) เป็นการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างชาญฉลาดเพื่อใช้ในการบริหารการผลิต การดำเนินงานขององค์กร อุปกรณ์และสถานที่ผลิตที่ดำเนินแบบแผนไปในทางเดียวกันอย่างคล่องตัว
3. IT System & Data Transaction (ระบบไอทีและธุรกรรมข้อมูล) เป็นการบูรณาการโครงสร้างภายในองค์กร โดยเชื่อมต่อกระบวนการต่างๆ แบบแนวตั้งหรือแบบปิรามิด (ปิรามิดอัตโนมัติในอุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ระดับชั้น โดยระดับชั้นแรกคือด้านบนสุดซึ่งเป็นชั้นที่วางแผนองค์กร ตามระดับไปจนถึงระดับ 5 ซึ่งอยู่ด้านล่างสุดของปิรามิด)
4. Market & Customers (ตลาดและลูกค้า) เป็นการรวบรวมและจัดการข้อมูลเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายและสภาพตลาดเพื่อการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ การออกแบบ และวางแผนวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์
5. Strategy & Organization (กลยุทธ์และองค์กร) เป็นกระบวนการทำงานและการนำพาองค์กรจากผู้บริหารไปสู่พนักงาน การวางแผนและพัฒนาขององค์กรสู่ Industry 4.0 โดยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารและการร่วมมือกับพันธมิตรภายนอก
และ 6. Human Capital (ทุนมนุษย์) เป็นการพัฒนาความสามารถและขอบเขตของพนักงานโดยการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับทิศทางขององค์กร รวมถึงการศึกษาและสวัสดิการที่เหมาะสมกับชีวิตและความเป็นอยู่
จากการที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ยุค 4.0 ทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคที่มีกระแสการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลมาประมวลผลและอำนวยความสะดวกในการตัดสินใจให้ง่ายขึ้น จึงทำให้กลุ่มลูกค้าในปัจจุบันมีความต้องการ (demand)ที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคยุค 4.0 จะเน้นความรวดเร็วและตรงกับความต้องการมากที่สุด มีการใช้อารมณ์ ความรู้สึกตัดสินใจเลือกซื้อ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการมากกว่ายุคก่อน ดังนั้น การที่โรงงานและผู้ประกอบการจะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภคได้ จะต้องอาศัยการนำเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลเข้ามาใช้ร่วม เพื่อประมวลผล เจาะความต้องการของลูกค้าผ่านอินเทอร์เน็ตให้ได้รวดเร็วมากที่สุด เพื่อให้สินค้าและบริการตรงใจลูกค้า
รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้กับเครื่องจักรในโรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักรในกระบวนการผลิตมีความอัจฉริยะมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น ลดค่าใช้จ่าย ช่วยให้เห็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน เช่น การนำแพลตฟอร์ม IDA ซึ่งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากจากอุปกรณ์ไอโอที (Internet of Things) โดยตรวจจับสัญญาณต่าง ๆ จากเครื่องจักร ทำให้ทราบสถานภาพของเครื่องจักร นำไปสู่การวิเคราะห์และบูรณาการข้อมูล ที่ช่วยให้บริหารจัดการการผลิตมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงรักษาเครื่องจักรในโรงงาน จากวางแผนการซ่อมบำรุงได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากมีการเชื่อมโยงข้อมูลพารามิเตอร์ต่าง ๆ ของเครื่องจักรมาวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่เครื่องจักรจะเกิดอาการเสียหายในอนาคต ขณะเดียวกันการปรับตัวของ SME ในภาคการผลิตก็มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องปรับตัวให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงรอบด้านภายหลังจากโควิด-19
ดังนั้น ดัชนีชี้วัดความพร้อมของอุตสาหกรรม 4.0 จะเป็นกำลังสำคัญซึ่งทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้ตามลำดับอย่างเหมาะสม ช่วยคลี่คลายปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมกำลังเผชิญ ซึ่งความร่วมมือของทั้งผู้ประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงภาครัฐจะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยสนับสนุนและสร้างความตระหนักรู้เรื่องดัชนีชี้วัดความพร้อมของอุตสาหกรรม 4.0 สำหรับประเทศไทย เพื่อให้เกิดการนำมาปรับใช้อย่างแพร่หลายต่อไป
สนใจรอพบกับ.. เสวนาออนไลน์ ” i4.0 Unlock the Future: ปลดล็อคอุตสาหกรรมไทยด้วยดัชนี 4.0″ เร็ว ๆ นี้ ดูรายละเอียดที่ https://www.nectec.or.th/news/news-article/thi4-index-article.html