“เรียนออนไลน์” ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม หากแต่ในช่วงวิกฤติที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเรียนออนไลน์กลายมาเป็นค่านิยมในการเรียนรูปแบบใหม่ เพราะปัจจุบันในโลกออนไลน์นั้นไร้ซึ่งพรมแดน สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รวมทั้งเลือกสิ่งที่จะเรียน เวลาเรียน อาจารย์ชั้นนำจากสถาบันใดก็ได้
แต่ภายใต้การเรียนออนไลน์นี้สิ่งสำคัญคือ “ครูผู้สอน” ที่ต้องการันตรีได้ว่าสิ่งที่ถ่ายทอดออกไปจะสามารถเพิ่มเติมองค์ความรู้ได้จริง ดังนั้นจะเป็นการดีหากมีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยคัดสรรติวเตอร์คุณภาพ พร้อมแอปพลิเคชั่นที่สามารถเรียนได้ทุกดีไวซ์ จบปัญหาความยุ่งยากในการเรียนพิเศษแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเรียนที่ไหน เมื่อไหร่ก็ย่อมได้ อย่าง แอปพลิเคชันกวดวิชา “AT HOME” (แอทโฮม)
คุณหลุยส์ “คณาภรณ์ กิตติอนุกูล” ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท อีที เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน“แอทโฮม (AT HOME)” บอกว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในระบบที่มีการกระจุกตัวอยู่แต่ในเมือง หรือแม้แต่โรงเรียนคุณภาพดี โรงเรียนกวดวิชาก็ยังมีการกระจุกตัวอยู่ในตัวเมืองอย่างโซนกรุงเทพฯ ส่วนต่างจังหวัดก็จะเป็นหัวเมือง ซึ่งระบบการศึกษาไทยเลี่ยงกวดวิชาไม่ได้ หากเด็กต้องการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย การเรียนที่โรงเรียนอาจยังไม่เพียงพอ ดังนั้นการกวดวิชาจึงมีบทบาทอย่างมาก บริษัทมองเห็นจุดสำคัญของ “การศึกษา” สำหรับทุกคนและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น จึงต้องการที่จะยกระดับผู้ช่วยทางการศึกษาอย่าง “กวดวิชา” ให้เด็กสามารถเข้าถึงได้ทุกส่วน ผ่านการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การศึกษากระจายตัวไปที่ใดก็ได้ และไม่ว่าเด็กจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเรียนได้
“แน่นอนว่าการเรียนบนช่องทางออนไลน์เกิดขึ้นมานานแล้ว จากการที่ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคทั้งเรื่องดิจิทัลดิสรัปชั่นหรือแม้กระทั่งการสนับสนุนจากภาครัฐและนักลงทุน ความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาไทยไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรที่สอนในโรงเรียน หรือจำนวนบุคลากรที่มีคุณภาพขาดแคลน หรือแม้กระทั่งการเข้าสู่ระบบครูมีความยากลำบาก ดังนั้นหากมีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาช่วยสนับสนุนการเรียนการสอน จะทำให้การศึกษานอกระบบนั้นเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะเราไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่เราอยากจะเป็นผู้ช่วยเสริมให้ผู้เรียนใช้เวลานอกห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
“แพลตฟอร์มกวดวิชาออนไลน์ AT HOME จะอยู่ในรูปแบบของแอปพลิเคชั่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอ็ดเทคสตาร์ทอัพที่ไม่ได้เป็นเอ็ดเทคจ๋าและมองแต่เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่เราคือ “เอ็ด+เทค” เพราะฉะนั้นเมื่อการศึกษามันสำคัญ เราจะทำอย่างไรที่จะเราจะนำสิ่งดีๆแบบดั้งเดิมมาผสานเทคโนโลยีใหม่ เข้ามาช่วยทำให้คอนเทนท์คุณภาพเหล่านี้สามารถกระจายให้เด็กเข้าถึงได้ในทุกสถานที่ เราจึงเป็นแพลตฟอร์มที่ดีไซน์ขึ้นมาเพื่อให้เด็กสามารถเรียนได้ทุกดีไวซ์อย่างไร้รอยต่อ ทั้งแท็บเลต สมาร์ทโฟน และพีซี”
ด้าน คุณจิ๊บ “ ชุติมณฑน์ เคารพาพงศ์” ซีเอ็มโอและผู้ก่อตั้ง อีที เอ็ดดูเคชั่น ฯ เล่าถึงการพัฒนาแอปพลิเคชั่นนี้ว่า เริ่มจากการที่เราได้ไปทำสตาร์ทอัพที่จีน แล้วเห็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงคิดอยากจะนำเทคโนโลยีนี้มารวมกับ Passion ที่มี เพื่อมาพัฒนาการศึกษาของไทย จึงชักชวนเพื่อนทีมเทคโนโลยีที่เคยทำงานกับบริษัทอาลีบาบามาร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม จนกระทั่งสำเร็จเป็นแอปพลิเคชัน “แอทโฮม” ที่ระบบหลังบ้านมีความเสถียรอย่างมาก จากนั้นจึงเริ่มเดินสายหาพาร์ทเนอร์มาร่วมทำงานจนประสบผลสำเร็จด้วยการเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมติวเตอร์อันดับ 1 มาไว้มากที่สุด
สำหรับจุดเด่นของ “แอทโฮม” นั้น คุณจิ๊บ บอกว่า 1. คือมีการพัฒนาแพลตฟอร์มตลอดเวลา 2.คุณภาพอาจารย์ที่อยู่ในแพลตฟอร์มกว่า 25 คน ที่สามารถการันตีได้ว่าผู้เรียนจะได้รับความรู้ที่ถูกต้องและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3.มีระบบการทดลองเรียนฟรีสูงสุดที่ 6 ชั่วโมงในแต่ละคอร์ส เพื่อให้น้องๆ และผู้ปกครองตัดสินใจก่อนเรียน
“เราออกแบบภายในแอปให้ใช้งานง่าย ครอบคลุมทุกระดับชั้นทุกวิชา ซึ่งสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นได้ทาง Play Store และ App store ปรับระบบการเล่นวิดีโอได้เหมือนยูทูป เช่น แสง เสียง สปีด มีระบบดาวน์โหลดเอกสาร และสามารถสอบถามข้อสงสัยกับอาจารย์ได้โดยตรงในช่องคำถาม ส่วนแผนธุรกิจของแอทโฮม เราเป็นแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ที่เน้นคอนเทนท์ในแง่ของวิชาการ แต่ก็มีแผนที่จะขยายไปในแง่ของสกิลมากขึ้นทั้ง ซอฟต์สกิล และฮาร์ดสกิล ที่ผู้เรียนจะต้องรู้ นอกเหนือจากวิชาการ อาทิ กระบวนการตัดต่อ อีกทั้งตัวคอร์สเรียนจากเดิมที่เป็นเทอมอย่างเดียว ก็มีการปรับคอร์สให้มีลักษณะสั้นลงให้เหมาะสมกับการเรียนมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับประสบการณ์และความพึงพอใจของ “เด็ก” ที่มีต่อระบบ”
ส่วนแผนการดำเนินงานต่อไปในอนาคต ผู้บริหาร“แอทโฮม” บอกว่าจะมีการพัฒนาโปรแกรมที่เป็นคลังข้อสอบเพื่อให้เด็กทำโจทย์บนแพลตฟอร์มได้ทุกดีไวซ์และประมวลผลออกมา ณ ตอนนั้น ซึ่งจะมีลักษณะหลายแบบอาจจะเป็นแบบฝึกหัดทั่วไป หรือการสอบที่เป็นชุดข้อสอบจริง และเมื่อทำจบบทก็จะมีการนำ “เอไอ” มาวิเคราะห์ จุดเด่น จุดด้อยที่ต้องพัฒนา และเก็บเป็นสถิติของตัวเองว่ามีการพัฒนาอย่างไรบ้าง เพื่อให้เด็กสามารถค้นหาตัวเองได้มากขึ้น เพราะปัญหาหลักๆของเด็กปัจจุบันคือยังไม่ค้นพบตัวเอง ซึ่งนอกจากวิชาการที่เราใช้การสอบในการวัดสถิติของนักเรียนแล้ว เราจะสามารถดึงข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ว่าเขาถนัดวิชาใด ซึ่งจะไปแมทซ์สกิลที่เขามีในส่วนของสกิลวิชาการ หรืออาจจะเป็นลักษณะนิสัย ปัจจัยในการเลือกการทำงาน เพื่อให้สามารถเลือกเรียนได้อย่างตรงจุดตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนได้
ทั้งนี้จากข้อมูลการเติบโตของแอทโฮมพบว่าตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการเมื่อ ก.ค. 2562 ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น 483.34% จาก 6 พันคนเป็น 3.5 หมื่นคน แบ่งออกเป็นนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด 50:50 มียอดแอคทีฟเกือบทั้งหมด อีกทั้งมีการเรียนต่อเนื่องสูงสุด 5 ชั่วโมง และเฉลี่ย 1-2 ชั่วโมงโดยประมาณ ส่วนจำนวนดาวน์โหลดทั้งจากฝั่งไอโอเอส เพิ่มขึ้นจาก 5.6 พันครั้ง เป็น 2.5 หมื่นครั้ง และแอนดรอยด์เพิ่มขึ้นจาก 2.5 พันครั้ง เป็น 1.7 หมื่นครั้ง รวมการเติบโตทั้งหมดเพิ่มขึ้น 418.51%
ส่วนรายได้จากการขาย เพิ่มขึ้น 708.82% จาก 6.8 ล้านบาท เป็น 55 ล้านบาท โดยวิชาที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ตามมาด้วย ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา
สำหรับภาพรวมการแข่งขันทั้งคู่มองว่า “เอ็ดเทค” หรือธุรกิจเทคโนโลยีด้านการศึกษายังไปต่อได้ยิ่งในช่วงหลังโควิด มีคนกระโดดลงมาเล่นในสนามนี้เยอะมาก เพราะมันไม่มีข้อจำกัดและการเรียนรู้จะไม่ได้อยู่เพียงในกรอบห้องเรียนอีกต่อไป ดังนั้นสนามแข่งขันนี้จึงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นวิกฤติในครั้งนี้กลายเป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยยกระดับการศึกษาไทยสู่ออนไลน์ในอนาคต .