สดร. จับมือกรมอุตุนิยมวิทยาร่วมขับเคลื่อนภาคีวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย เร่งศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมเร่งวิเคราะห์ต้นตอปัญหา PM2.5 ในประเทศไทย
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา สดร.ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจภาคีวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย ฉบับที่สอง ระหว่างหน่วยงานภาคีวิจัยฯ เดิม 28 หน่วยงาน และเพิ่มเติมอีก 1 หน่วยงาน คือกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญ ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนภาคีวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย ด้วยความเชี่ยวชาญด้านการพยากรณ์อากาศ การรายงานปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ ทั้งยังมีความพร้อมด้านอุปกรณ์เครื่องมือ และข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เสริมศักยภาพการวางแผนร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาคี บูรณาการกำลังคนและทรัพยากรทางการวิจัย เชื่อมโยงกับการศึกษาค้นคว้า หาสาเหตุที่มาของคุณภาพอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เจาะลึกถึงต้นตอของปัญหา PM2.5 และภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศไทย
ทั้งนี้ภาคีวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย มีจุดเริ่มต้นจากกลุ่มวิจัยบรรยากาศของ สดร. ที่ดำเนินการศึกษาวิจัยมาระยะหนึ่ง ได้เชิญคณาจารย์ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานวิจัยบรรยากาศในประเทศไทย และทุกฝ่ายได้แสดงเจตจำนงร่วมกันในการจัดตั้งภาคีเพื่อบูรณาการและขยายขอบเขตความเชี่ยวชาญหลักของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงประสานความร่วมมืองานวิจัยด้านบรรยากาศและคุณภาพอากาศในประเทศไทย ให้มีการทำงานที่สอดประสานกัน เนื่องจากปัญหาด้านบรรยากาศมีความหลากหลายและซับซ้อนเกินกว่าหน่วยงานเดียวจะทำได้ นำมาสู่การลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับแรก เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563
“นับจากนี้ หน่วยงานและนักวิจัยทั้งหมดจะได้ร่วมมือกันประสานนโยบายเพื่อช่วยกันกำหนดทิศทางการวิจัยด้านบรรยากาศให้ทันกับสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาวิจัยด้านคุณภาพอากาศที่ยังไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหา PM2.5 แม้นักวิจัยไทยจะมีศักยภาพด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ แต่ยังขาดการวางแผนเชื่อมโยงประเด็น ทั้งในเรื่องคุณภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
สำหรับภาคีวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันจัดทำแผนที่นำทางของการวิจัยแบบบูรณาการ บูรณาการวิจัยบรรยากาศที่เชื่อมโยงกับการศึกษาคุณภาพอากาศของประเทศไทยและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จัดสร้างห้องปฏิบัติการกลางที่มีเครื่องมือที่ทันสมัยพร้อมที่จะสนับสนุนการวิจัยบรรยากาศ พัฒนาระบบฐานข้อมูล สร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์บรรยากาศ สร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ พัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยบรรยากาศ และผลักดันให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง เบื้องต้นได้กำหนดหัวข้อเพื่อเป็นแนวทางในการทำวิจัยบรรยากาศร่วมกัน ได้แก่ งานวิจัยด้านเคมีบรรยากาศ งานวิจัยด้านฟิสิกส์บรรยากาศ งานวิจัยด้านเครื่องมือและการตรวจวัดด้านบรรยากาศ งานวิจัยด้านฐานข้อมูลและแบบจำลองการคาดการณ์คุณภาพอากาศ และงานวิจัยด้านผลกระทบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี 29 หน่วยงาน ที่ร่วมลงนามความร่วมมือภาคีวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย (Thailand Consortium for Atmospheric Research : TCAR) ประกอบด้วย 1. สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) 2. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) 3. สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) 4. กรมควบคุมมลพิษ 5. กรมอุตุนิยมวิทยา 6. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 7. มหาวิทยาลัยขอนแก่น 8. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 9. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 10. มหาวิทยาลัยทักษิณ 11. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 12. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 13. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 14. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 15. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 16.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 17. มหาวิทยาลัยนเรศวร 18. มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 19. มหาวิทยาลัยพะเยา 20. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 21. มหาวิทยาลัยมหิดล 22. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 23. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 24. มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง 25. มหาวิทยาลัยศิลปากร 26. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 27. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 28. สถาบันพระบรมราชชนก 29. สถาบันอุดมศึกษาสิ่งแวดล้อมไทย