อว.โชว์ 12ผลงานเด่นปีงบประมาณ 2564 ช่วยชาติทั้งแก้ปัญหาว่างงานผ่าน U2T สร้าง รพ.สนามรับผู้ป่วยโควิด ฉีดวัคซีนให้ประชาชนกว่า 7 แสนโดส เรียนไม่จบไม่ต้องถูกรีไทร์ ได้ศาสตราจารย์โดยไม่ต้องส่งผลงานวิจัยไปจนถึงการทำวิจัยแก้จนใน 10 จังหวัดพร้อมโครงการสำรวจอวกาศที่ใหญ่ที่สุดของไทย ยกระดับเศรษฐกิจประเทศ
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าว “12 เดือน 12 ดี” ผลงานของ อว. ในรอบปีงบประมาณ 2564 ว่า ผลงานทั้ง 12 เรื่องของ อว. มีทั้งเรื่องการสร้างผลประโยชน์ในระยะสั้น หรือเฉพาะหน้าเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน และสร้างผลประโยชน์ระยะกลางและระยะยาวให้กับประเทศ โดยในระยะสั้นที่ อว.ดำเนินการ อาทิ โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศหรือ U2T ที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการว่างงานจากวิกฤติโควิด-19 เป็นการจ้างงานของรัฐบาลที่ทำได้อย่างรวดเร็วที่สุด ทำให้คน 6 หมื่นคนที่เป็นลูกหลานชาวบ้านได้มีงานทำกระจายไป 3 พันตำบลทั่วประเทศ และเป็นครั้งแรกที่เอามหาวิทยาลัยกว่า 76 แห่งลงสู่ตำบลเพื่อทำงานร่วมกับชุมชน ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชนหลายร้อยล้านบาท ล่าสุดกำลังขออนุมัติโครงการ U2T ในระยะที่ 2 อีก 4 พันกว่าตำบลเพื่อจ้างงานอีกกว่า 1.2 แสนคน ใช้งบประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท
รมว.อว.กล่าวว่า เรื่องต่อมาคือ รพ.สนามสู้ภัยโควิด ที่เป็นกองหนุนในยามวิกฤติ อว.เปิด รพ.สนาม 60 กว่าแห่งทั่วประเทศเกือบครบทุกจังหวัดโดยใช้เครือข่ายมหาวิทยาลัย รับคนไข้มาแล้ว 6-7 หมื่นคน การสร้าง รพ.สนาม เป็นการผันตัวเองอย่างรวดเร็วของ อว.ในยามวิกฤต แสดงให้ประชาชนเห็นว่ามหาวิทยาลัยลงจากหอคอยงาช้าง หน่วยงานวิจัยออกจากป้อมปราการ เพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนต่อสู้ในยามวิกฤติ นอกจากนี้ยังมี การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด โดย อว. ได้เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล 14 จุดและต่างจังหวัด 76 จุด ซึ่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้วกว่า 7 แสนโดส และยังมีโครงการ อว.พารอด เป็นโครงการที่ดึงจิตอาสาและอาสาสมัครมาช่วยผู้ป่วยโควิดที่กักตัวอยู่บ้านหรือในชุมชน โดยการโทรศัพท์ไปให้กำลังใจและคำปรึกษาพร้อมส่งกล่องยาสมุนไพรและอุปกรณ์จำเป็นไปให้ โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐเอกชนมาร่วมบริจาคสิ่งของจนเกิดเป็นพลังขับเคลื่อนทางสังคม
นอกจากนี้ ยังมีโครงการ BCG โมเดลเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลที่ อว.ร่วมขับเคลื่อน ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ของประเทศในระยะกลางและระยะยาวเพื่อนำไปสู่ประเทศอุตสาหกรรม 4.0 และนำไปประเทศไทยไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจแบบทำน้อยได้มาก ไม่ใช้ทำมากได้น้อยเหมือนเดิมอีกต่อไป ขณะเดียวกันมีโครงการธัชชาหรือวิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อทำให้เห็นว่า อว.ไม่ได้มีแค่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่ยังมีเรื่องของสังคมศาสตร์ฯ ด้วยเพื่อสร้างความสมดุลให้กับทุกศาสตร์ โดยผลงานสำคัญคือการทำเรื่องสุวรรณภูมิศึกษา เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ประเทศไทยย้อนหลังไป 2,500 – 3,000 ปี เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าคนไทยมีอารยะธรรมและยังช่วยส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้
“ที่สำคัญยังมีผลงานเรื่องการวิจัยความยากจนเพื่อแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า โดยการทำวิจัยใน 10 จังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศไทยจนได้ตัวเลขคนจนจริงๆ มากว่า 4 แสนคน เพื่อจัดทำเป็นบิ๊กดาต้านำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนที่ตรงจุดและแม่นยำ พร้อมมีการติดตามประเมินผลจนกว่าจะหายจนอีกด้วย” รมว.อว.กล่าว
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวอีกว่า ยังมีเรื่องของการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการโดยไม่ต้องส่งงานวิจัยหรือตำราก็ได้ โดยมีคุณสมบัติ อาทิ ทำงานรับใช้สังคมและท้องถิ่น ทำงานสร้างสรรค์หรือด้านศิลปะ มีการสอนที่เป็นเลิศ เป็นต้น การลดค่าเทอมเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาและผู้ปกครองในช่วงโควิด ถือเป็นการแบ่งเบาภาระที่เป็นรูปธรรมอีกผลงานหนึ่งของ อว. ขณะที่ การยกเลิกการกำหนดระยะเวลาสำเร็จการศึกษา เรียนไม่จบไม่ต้องถูกรีไทร์ เป็นอีกเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนไปด้วยพร้อมกับทำงานไปด้วย
ผลงานต่อมาคือเรื่องของ TSC โครงการสำรวจอวกาศที่ใหญ่ที่สุดของไทย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ และสุดท้ายคือการเปิดหลักสูตร WINS ที่เป็นการนำผู้บริหารระดับสูงของ อว.มาอบรมและทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างความรักสามัคคี พร้อมช่วยสร้างและพัฒนางานที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศ
“ยืนยันว่า อว.ทำงานดี เร็ว คล่องและประสานการทำงานร่วมกันได้อย่างไม่ติดขัด ขอย้ำว่าความสำเร็จทั้งหมดนี้ ผมไม่ได้ทำคนเดียว แต่เป็นผลงานจากความร่วมมือทั้งทีมการเมือง ทีมผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของ อว.ทกคน” รมว.อว.ระบุ