คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดลวิจัยกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้ากระแสตรงผ่านกะโหลกศีรษะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวดีขึ้น
“โรคหลอดเลือดสมอง” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นของประเทศไทย และยังคงมีอัตราผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี การรักษาตามมาตรฐานสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ คือการรักษาทางยา การผ่าตัด และกายภาพบำบัด แม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ แต่ยังมีผู้ป่วยที่พบความผิดปกติทางด้านการเคลื่อนไหว ที่ก่อให้เกิดความทุพพลภาพ คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมุ่งวิจัยการกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้ากระแสตรงผ่านกะโหลกศีรษะในการฟื้นฟูผู้ป่วยทางระบบประสาทร่วมกับการรักษาทางกายภาพบำบัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ลดภาวะที่ก่อให้เกิดความพิการ และลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา รวมไปถึงการต้องพึ่งพาผู้อื่นในระยะยาว โดยพบว่าผู้ที่ได้รับการกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้าฯ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ผู้ป่วยมีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหวลดลง แขนและขามีการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น และในอนาคตผู้ป่วยสามารถนำเครื่องกลับไปกระตุ้นสมองร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเองที่บ้านอีกด้วย
ทีมวิจัยคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล นำทีมดย รศ.ดร.กภ.รุ่งทิวา วัจฉละฐิติ หัวหน้าแผนบูรณาการ ร่วมกับ ผศ.ดร.กภ.วนาลี กล่อมใจ และอ.ดร.เบญจพร เอนกแสน หัวหน้าโครงการย่อยกล่าวว่า คณะกายภาพบำบัดได้ทำการวิจัยโดยการใช้เครื่องกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้ากระแสตรงผ่านกะโหลกศีรษะ (transcranial direct current stimulation; tDCS) ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ร่วมกับการรักษาทางกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นวิธีการกระตุ้นสมองที่ไม่เจ็บปวดและไม่รุกราน (noninvasive brain stimulation) โดยใช้ไฟฟ้ากระแสตรงอย่างอ่อน ประมาณ 1-2 มิลลิแอมแปร์ วางที่ศีรษะผู้ป่วย ใช้ระยะเวลาในการกระตุ้นครั้งละประมาณ 20 นาที วางขั้วกระตุ้นไปที่ศีรษะ เซลล์ที่อยู่ภายใต้ขั้วบวกหรือแอโนด (anodal tDCS) จะตื่นตัวมากขึ้น ช่วยเพิ่มการทำงานของสมองส่วนนั้น และขั้วลบหรือแคโทด (cathodal tDCS) ส่งผลยับยั้งเซลล์ประสาทที่ใต้ขั้ว กลไกนี้นำมาประยุกต์ใช้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยเพิ่มการตื่นตัวของเซลล์ประสาทในข้างที่มีรอยโรคยับยั้งการทำงานที่มากเกินไปของข้างปกติ และปรับสมดุลการทำงานของสมองทั้ง 2 ข้าง ในงานวิจัยได้ประเมินผลการกระตุ้นสมองร่วมกับการทำกายภาพบำบัดต่อการเคลื่อนไหวในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทุกระยะ ได้แก่ ระยะเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน และเรื้อรัง
“จากการศึกษาวิจัยเบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยมีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหวลดลง แขนและขามีการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการทำกายภาพบำบัดอย่างเดียว และงานวิจัยในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเรื้อรัง พบว่าผู้ป่วยสามารถนำเครื่องนี้กลับไปกระตุ้นสมองร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเองที่บ้านได้ ลดภาระการเดินทาง เนื่องจากเครื่องกระตุ้นสมองนี้ ใช้ง่าย ขนาดเล็ก ไม่มีผลข้างเคียงหรืออันตรายรุนแรง”
โดยผู้รักษาสามารถตั้งโปรแกรมควบคุมการใช้งาน และมีการรายงานผลข้อมูลการใช้งานว่ากระตุ้นไปตามที่ตั้งโปรแกรมไว้หรือไม่ นอกจากที่เราได้นำองค์ความรู้จากงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์แล้ว เราเน้นการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน tDCS ร่วมกับการรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยทางโรคหลอดเลือดสมองให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อพัฒนาการรักษา พัฒนาองค์ความรู้ และตอบสนองความต้องการที่จะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ของประเทศเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป
คณะวิจัยจากคณะกายภาพบำบัดร่วมมือกับศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (Siriraj Stroke Center) และศูนย์กายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ในการเก็บข้อมูลผู้ป่วย นอกจากนี้มีนักวิจัยจากสถาบันประสาท และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมในคณะวิจัยด้วย อย่างไรก็ตามในแผนงานวิจัยนี้ยังมีการดำเนินการวิจัย และเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลการวิจัยที่แน่ชัดและได้การรักษาที่มีประสิทธิภาพ หากมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการวิจัยสามารถติดต่อคณะวิจัยการกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้ากระแสตรงผ่านกะโหลกศีรษะในการฟื้นฟูผู้ป่วยทางระบบประสาทได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 065-4949966