10 พ.ย.นี้ นายกรัฐมนตรีเปิดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ 2564 พร้อมมอบรางวัล PM Award ด้าน “เอนก” เผย 10 ปีที่ผ่านมา เด็ก – เยาวชนเข้ามาชมและสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น แถมสร้างชื่อเสียงให้ประเทศแม้อยู่ในช่วงโควิด
เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จัดแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2564 โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.เป็นประธานในการแถลงข่าว
ศ.(พิเศษ) ดร. อเนก กล่าวว่า งานมหกรรมวิทย์ ฯ ไม่ใช่เพียงแค่อีเว้นท์ แต่เป็นงานที่จะเปลี่ยนระบบความคิดของคนไทยให้หันมาสนใจและชื่นชอบในวิทยาศาสตร์ เปลี่ยนมุมมองว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก น่าตื่นเต้น น่าเรียนรู้และจับต้องได้ และตนได้รับข้อมูลมาว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนที่ได้เข้ามาชมงานมีความสนใจในวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวและจับต้องได้ และดึงดูดให้คนในครอบครัวอยากมาเที่ยวชมงานในทุกปีอย่างสม่ำเสมอ เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ชื่นชอบในการแสวงหาความรู้
ทั้งนี้ เรื่องที่ อว.จะทำต่อไปคือเยาวชนดูแลผู้สูงวัย ทั้งหมดนี้เป็นมิติต่างๆ ของเยาวชนที่ อว.กำลังจะฝึก ให้ความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งนอกจากเยาวชนกับวิทยาศาสตร์ ที่ อพวช. ได้ดำเนินการในงานมหกรรมวิทย์ฯ แล้ว จะเห็นได้ว่าเยาวชนไทยในรอบปีที่ผ่านมาสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยเป็นจำนวนไม่น้อย แม้จะมีโควิดก็ไม่หยุดยั้ง เช่น ผลงานด้านการทำดาวเทียมกระป๋อง ทำโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ในอวกาศ การทำอาหารที่ใช้ในอวกาศ จนได้รางวัลจาก NASA (นาซ่า) JAXA (แจ๊คซ่า จากประเทศญี่ปุ่น) ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นภาพประเทศไทยจะเป็นชาติวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมได้อย่างแน่นอน เราจะดีดตัวเองออกจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางในปี 2580 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ โดยในปี 2570 อว.มุ่งมั่นว่าจะเป็นกลไกสำคัญที่จะนำประเทศไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วให้ได้
“ที่สำคัญมหกรรมวิทย์ฯ ในปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมาเป็นประธานในพิธีเปิดวันที่ 10 พ.ย.นี้ พร้อมมอบรางวัล PM Award ให้แก่ครูอาจารย์และนักเรียนที่มีผลงานด้านวิทยาศาสตร์ดีเด่นเพื่อเป็นการเชิดชูและให้กำลังใจบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ของไทย” ศ.(พิเศษ)ดร.เอนก กล่าว
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า งาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” เป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี มีกลุ่มเป้าหมายคือเด็กและเยาวชน ซึ่งในช่วงก่อนที่จะเกิดโควิด-19 มีผู้เข้าชมงานดังกล่าวปีละกว่า 1 ล้านคน สำหรับปีนี้งานดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9–19 พ.ย.นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในรูปแบบไฮบริดอีเว้นท์ ที่ผสมผสานระหว่างการเข้าชมงานในฮอลล์ หรือเลือกรับชมจากที่บ้านก็ได้ ภายใต้แนวคิด “ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Art – Science – Innovation and Creative Economy)” ซึ่งมุ่งเน้น การจัดแสดงงานที่ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม “BCG Model : Bio – Circular – Green Economy” ที่เป็นครั้งแรกของการจัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (1st BCG Science Fair in SEA) ที่จุดประกายความคิด สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG และการนำเสนอยุทธศาสตร์ของอว.ที่เดินหน้าพัฒนาประเทศทั้งใน 2 สาขาไปพร้อม ๆ กัน คือ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และด้านสังคม ศิลปะ วัฒนธรรม
ทั้งนี้ นิทรรศการที่จัดภายในงานจะเน้นเรื่องการออกแบบนิทรรศการที่คำนึงถึงการใช้ผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดหรือประหยัดทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่เน้นการใช้ทรัพยากร การผลิต และการสร้างของเสีย
นอกจากนี้ยังมีการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เยาวชนได้มีบทบาทภายในงานมากขึ้น มีส่วนร่วมและมีการแสดงออกมากขึ้น เช่น การแสดงละครวิทยาศาสตร์ กิจกรรมการสื่อสารวิทยาศาสตร์ รวมถึงให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมแบบออนไลน์ และการจัดนิทรรศการทั้งในและต่างประเทศ มุ่งเน้นเนื้อหาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน มีความเป็นสากลและมุ่งเน้นการนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก 78 หน่วยงานทั้งจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ภาครัฐ เอกชน มูลนิธิ สมาคม และหน่วยงานจากต่างประเทศอีก 6 ประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ให้แก่เยาวชนไทย ให้คิดอย่างสร้างสรรค์ มีเหตุมีผล มองรอบด้าน โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นพื้นฐาน นำไปสู่การต่อยอดความคิดสู่การเป็นนวัตกรรุ่นใหม่ของประเทศในอนาคต ตลอดจนโชว์ศักยภาพผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำไปใช้ได้จริง ตามกรอบนโยบายที่ท่านรัฐมนตรีมอบให้
สำหรับไฮไลท์นิทรรศการหลักที่น่าสนใจ นอกจากนิทรรศการเทิดพระเกียรติ ยังมีนิทรรศการโลกดิจิทัลไร้พรมแดนกับเทคโนโลยี 5 G ที่แสดงถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยี นิทรรศการโครงร่างสร้างเรื่อง ที่นำเสนอเรื่องราวมหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตผ่านมุมมองของโครงร่างของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด นิทรรศการหมื่นจินตนาการ ล้านความรู้ ที่พาท่องโลกของนิยายวิทยาศาสตร์ ที่ส่งผลต่อจินตนาการและความรู้ของมวลมนุษยชาติ และที่พลาดไม่ได้ คือนิทรรศการเอกลักษณ์ของงาน SCIENCE speaks ART / ART speaks SCIENCE “ศิลป์แสดงวิทย์-วิทย์แสดงศิลป์” ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับศิลปะ ที่เกิดขึ้นมาช้านาน
ด้านนายสุวรงค์ วงษ์ศิริ รักษาการแทน ผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมวิทย์ฯ ในรูปแบบไฮบริดอีเว้นท์ปีนี้ ไม่เพียงลดช่องว่างการเข้าถึงงานจากผู้เข้าชมงานที่อยู่พื้นที่ห่างไกลหรือผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางมา แต่ยังเป็นการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้และเสนอช่องทางเลือกให้ผู้เข้าชมงาน สามารถเพลิดเพลินไปกับกิจกรรมและเปิดมุมมองการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านช่องทางใหม่ โดยมี 2 ช่องทางในการเข้าชมงาน ช่องทางแรกคือเข้าชมนิทรรศการเสมือน (Virtual Exhibition) อย่างไร้ข้อจำกัดเวลาและสถานที่บนโลกออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์งาน www.thailandnstfair.com ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 64 เป็นต้นไป และสามารถรับชมกิจกรรมและนิทรรศการต่างๆ ที่จัดขึ้น การเยี่ยมชมงานของพรีเซนเตอร์ ‘เต-ตะวัน’ และเหล่าคนดังที่มาเยี่ยมชมงานที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ทางเฟสบุ๊กของงาน NSTFair Thailand www.facebook.com/nstfairTH รวมทั้งร่วมสนุกกับกิจกรรมแจกของรางวัล Limited Edition ตลอดการจัดงานทุกวัน และช่องทางที่สองคือเข้าชมงานในสถานที่จริง (On ground Platform) ที่จะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 9-19 พฤศจิกายน 2564 ณ อาคาร 9-12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดให้เข้าชมงานฟรี! ตั้งแต่เวลา 09.00-19.00 น. โดยมีมาตรการจำกัดผู้เข้าชมงาน และมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมเปิดให้ลงทะเบียนจองสิทธิ์เข้าชมงานล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์งาน
ในด้านความพร้อมของการจัดงาน นายสุวรงค์ฯ กล่าวว่า ด้วยประสบการณ์ตลอด 15 ปีของการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ การปรับการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ของ อพวช.เป็นรูปแบบออนไลน์ Virtual Museum การบริหารการเข้าชมงานทั้ง 4 พิพิธภัณฑ์ในรูปแบบ New Normal ของ อพวช. และการเตรียมงานมากกว่า 6 เดือนในหลายด้าน เราได้เตรียมความพร้อมในการรองรับผู้เข้าชมในแต่ละวัน มีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อความสมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน ทั้งด้านสถานที่ ระบบสาธารณูปโภค มาตรการป้องกันโควิด-19 ระบบการจราจร การบริการรถรับ-ส่งภายในงาน การปฐมพยาบาล การรักษาความปลอดภัย การบริการต้อนรับ ร้านค้า ร้านอาหาร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ในการดูแลต้อนรับและอำนวยความสะดวกผู้เข้าชมงาน ที่ได้รับการฉีดวัคซีนและผ่านการตรวจ ATK ก่อนเข้าปฏิบัติงานทุกคน
สำหรับโรงเรียนที่ต้องการเข้าชมงานเป็นหมู่คณะ ติดต่อจองเข้าชมงานได้ที่เว็บไซต์งาน หรือ ติดต่อ อพวช. โทร 02 577 9960 ติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงาน ได้ที่ www.thailandnstfair.com หรือ Facebook งาน NSTFair Thailand www.facebook.com/nstfairTH หรือสอบถามข้อมูลที่ อพวช. โทร. 0 2577 9960