อว. มอบรางวัลพิเศษ ภายใต้โครงการ Prime Minister’s Science Award 2021 เชิดชูเกียรติเยาวชนวิทยาศาสตร์ในงาน “มหกรรมวิทย์ฯ 64”
ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2564 ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้นที่อิมแพค เมืองทองธานี ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล Special Award ภายใต้โครงการ Prime Minister’s Science Award 2021 เพื่อเชิดชูเกียรติและเป็นกำลังใจให้แก่เยาวชนไทยที่สร้างสรรค์ผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ที่มีความโดดเด่น น่าประทับใจ ตอบโจทย์ภาคเอกชน
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ กล่าวว่า กระทรวง อว. เห็นความสำคัญของโครงงานด้านวิทยาศาสตร์ในการส่งเสริมการเรียนรู้เชิงรุก โดยบูรณาการความรู้ทางวิชาการ ความคิดสร้างสรรค์ และเจตคติที่ดี ให้เป็นกระบวนการสร้างความรู้ที่มีพลวัตร อันส่งผลให้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นสหวิทยาการและเป็นกระบวนการที่มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีในระหว่างที่นักเรียนและครูเข้าร่วมและพัฒนาตัวเองในกิจกรรมครั้งนี้ ทุกคนมีความกระหายต่อการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ มีความมั่นใจ รู้จักความสามารถของตัวเอง กล้าเสี่ยงและเรียนรู้จากความผิดพลาด และที่สำคัญทุกคนรู้จักทำงานเป็นทีม
“กระทรวง อว. ได้สร้าง Prime Minister’s Science Award 2021 ให้เป็นเวทีเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของทุกคนด้วยกระบวนการดังกล่าว นับจากนี้ทุกคนได้ก้าวมาเป็นผู้นำในการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว พร้อมขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมส่งเสริมขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีให้แก่เยาวชนไทย ผ่านการสนับสนุนรางวัลพิเศษในครั้งนี้ ได้แก่ กลุ่มบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด และ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้เข้าร่วมคัดเลือกโครงงานวิทยาศาสตร์ ด้วยมุมมองและความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานทำให้การคัดเลือกโครงงานเป็นไปอย่างเข้มข้น ได้โครงงานที่มีศักยภาพสูงสุด”
สำหรับรางวัล Special Award ภายใต้โครงการ Prime Minister’s Science Award 2021 เป็นรางวัลที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงงานที่มีความโดดเด่น สื่อสารน่าประทับใจและสาระของโครงงานฯ สอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงานผู้สนับสนุนรางวัล ประกอบด้วย 4 รางวัล คือ รางวัลพิเศษ Special Award ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นสนับสนุนโดยกลุ่มบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย ได้แก่ โครงงานแผ่นหนังเทียมสำหรับการผลิตกลองตุ๊กจากขยะขวดพลาสติก HDPE ร่วมกับฝุ่นขี้เลื่อยไม้ยางพาราเพื่อทดแทนการใช้หนังวัว ผลงานของนายภคนันท์ ทัศนาภิรมย์,นายนฤปนาถ อักษรดิษฐ และนายรชต ธรรมพิพิธ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี โดยมีนายขุนทอง คล้ายทอง และนายณรงค์ชัย โอเจริญ เป็นที่ปรึกษา
รางวัลพิเศษ Special Award ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ สนับสนุนโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้แก่โครงงานการพัฒนาสมการเฮลิคอยด์เพื่อเพิ่มอัตราการไหลของอุปกรณ์ลำเลียงลิ่มเลือดในการรักษาทางการแพทย์ ผลงานของนายพิตตินันท์ หาญสิงห์กุญช์,นายนนทนัตถ์ เวทยานนท์และนายพัชรพล รุจิพรพงษ์ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี โดยมีนายศักดิ์นรินทร์ จันทร์นาค และนางสาวพิชญ์สินี คงสุคนธ์ เป็นที่ปรึกษา
รางวัลพิเศษ Special Award ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สนับสนุนโดยบริษัท ไบเออร์ ไทย จำกัด ได้แก่ โครงงาน Using Nanobody-displaying Phages to Attenuate Biofilm Formation of Staphylococcus aureus ผลงานของนางสาวพอลิสา เธียรเอี่ยมอนันต์ และนางสาวเพลิน จิรเสวีนุประพันธ์ จากโรงเรียนประชาคมนานาชาติ (ICS) โดยมี Mr. Paul Muri และนายเกียรติทวี ชูวงศ์โกมล เป็นที่ปรึกษา
และรางวัลพิเศษ Special Award ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สนับสนุนโดยบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้แก่ โครงงานเว็บแอปพลิเคชันสำหรับการคัดแยกโรคผิวหนังที่มีจำนวนข้อมูลน้อยโดยใช้การเรียนรู้เชิงลึก ผลงานของ นายวรันธร จันทร์สว่าง จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี โดยมีนายขุนทอง คล้ายทอง และผศ.ดร.วสิศ ลิ้มประเสริฐ เป็นที่ปรึกษา
อย่างไรก็ดีทั้ง 4 ทีมได้รับเกียรติบัตรพร้อมทุนการศึกษา 30,000 บาทจากผู้สนับสนุนแต่ละราย เพื่อเชิดชูเกียรติและเป็นกำลังใจให้แก่เยาวชนไทยในการพัฒนา ต่อยอดและสร้างสรรค์ผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นต่อไป