ทีม Rickrolled จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย คว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขัน “Astro Challenge 2021 : ปริศนาดาราศาสตร์ ประจำปี 2564”
วันนี้(11พ.ย.64) นางสาวจุลลดา ขาวสะอาด ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือสดร. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า กิจกรรม “Astro Challenge ปริศนาดาราศาสตร์” จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2563 เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาสมัครร่วมแข่งขันตอบปัญหาทางดาราศาสตร์ ทดสอบความรู้รอบตัวเรื่องดาราศาสตร์ นอกเหนือไปจากความรู้ในห้องเรียน ที่ไม่ใช่ทางทฤษฎีหรือคำนวณ การแข่งขันรอบคัดเลือกจะคัดเลือกตัวแทนภูมิภาคละ 2 ทีม เพื่อแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
จากกระแสตอบรับที่ดี เกิดกระแสความตื่นตัวและได้รับความสนใจจากครู นักเรียนทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก สดร. จึงกำหนดจัดกิจกรรม “Astro Challenge ปริศนาดาราศาสตร์” ขึ้นเป็นปีที่สองเพื่อเปิดเวทีให้เยาวชนไทยได้แสดงความสามารถ กระตุ้นความใฝ่รู้ กระตือรือร้น สนใจและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยหันมาสนใจดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ รวมถึงเป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้นอกห้องเรียนได้อีกทางหนึ่ง ในปีนี้มีนักเรียนจากทั่วประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวในรอบคัดเลือกแบบออนไลน์ 3,663 คน จาก 1,221 ทีม
ทีมที่ผ่านการแข่งขันรอบคัดเลือก 8 ทีม เข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ณ เวทีกลาง มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2564
ซึ่งผลการแข่งขัน ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Rickrolled โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมไหว้พระนอนที่อุบล อุบล อุบล… โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม MC-Youth-Astronomers โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จ. เชียงใหม่ และรางวัลชมเชย จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ ทีม Gamma NUD โรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร จ. พิษณุโลก, ทีม Born to be บันได โรงเรียนปัญจดี จ. ชัยภูมิ, ทีมฉันจะพาเธอลอย ล่องไปในอวกาศ โรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ. นครราชสีมา, ทีมนักเดินทางแห่งท้องทะเลดาว โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จ. เพชรบุรี และ ทีม To Infinity & Beyond โรงเรียนวิเชียรมาตุ จ.ตรัง
ทั้งนี้ทีม Rickrolled โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ ประกอบด้วยสมาชิก 3 คน ได้แก่ เด็กชายกิตติพัศ พงศ์อรุโณทัย เด็กชายนราวิชญ์ ตันติพิทักษ์โชติ และเด็กชายศุภกร ไพศาลเจริญ ระดับชั้นมัธยมปีที่ 3
กิจกรรม “Astro Challenge ปริศนาดาราศาสตร์” นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ สดร. ได้ริเริ่มขึ้น โดยมุ่งหวังที่จะให้เกิดเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ระดับเยาวชน ไม่เพียงแต่ความรู้ในตำราเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงความรู้รอบตัวเรื่องดาราศาสตร์นอกห้องเรียนอีกด้วย การจัดการแข่งขันในแต่ละปี มีกระแสตอบรับที่ดี เกิดความตื่นตัวและได้รับความสนใจจากครู นักเรียนทั่วประเทศเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้นในทุกปี แม้ว่าประเทศไทยจะอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบออนไลน์ แต่จำนวนผู้เข้าแข่งขันก็ยังเพิ่มจำนวนมากกว่าปีที่ผ่านมา สดร. หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมในลักษณะเช่นนี้จะจุดประกาย และก่อให้เกิดการส่งต่อแรงบันดาลใจใฝ่รู้ทางวิทยาศาสตร์ไปสู่เยาวชนไทยรุ่นต่อไป
สำหรับงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2564 ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 9 – 19 พฤศจิกายนนี้ ที่ฮอลล์ 9 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในรูปแบบไฮบริดอีเว้นท์ท้ ชมได้ทั้งแบบออนไลน์และในสถานที่จริงนั้น สดร. ได้มีการจัดบูธนิทรรศการ โดย นำเสนอเรื่องราวการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย ภายใต้ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium) ที่มุ่งหมายผลิตดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ฝีมือคนไทย รวมถึงสร้างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรรุ่นใหม่ ด้วยการลงมือพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กด้วยตนเองในทุกขั้นตอน
นิทรรศการภายในบูธจะเล่าเรื่องราวตั้งแต่พื้นฐานทางฟิสิกส์ จนถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสำรวจอวกาศ ผ่านอุปกรณ์การเรียนรู้แบบ Interactive หลากหลายหัวข้อ อาทิ ทำไมต้องไปอวกาศ? เราเคลื่อนที่ในอวกาศได้อย่างไร? ร่างกายในสภาวะสุญญากาศเป็นอย่างไร? เราควบคุมทิศทางของยานอวกาศได้อย่างไร? เป็นต้น
นอกจากนี้ ชวนชมวินาทีส่งจรวดสู่อวกาศเสมือนจริงภายใต้ท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัลเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 เมตร รวมถึงอุปกรณ์ต้นแบบของชิ้นส่วนดาวเทียมฝีมือวิศวกรชาวไทย ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นชิ้นส่วนสำคัญของยานสำรวจดวงจันทร์ และระบบติดตามวัตถุอวกาศ ที่นำมาให้สัมผัสรับชมกันอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้สดร.ยังจัดกิจกรรมพิเศษนอกจากการแข่งขันตอบปัญหา “Astro Challenge 2021 : ปริศนาดาราศาสตร์ ประจำปี 2564” รอบชิงชนะเลิศแล้ว ยังร่วมกับบริษัท Private Division จัดการแข่งขันออกแบบโครงการสำรวจอวกาศระดับเยาวชน “Space Youth Challenge : ยอดเยาวชนคนอวกาศ” รอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจะประกาศผลรางวัลชนะเลิศ ในวันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2564 และจัดแสดงผลงานภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทยในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” ที่ได้รับรางวัล ประจำปี 2564 โดยจะจัดพิธีมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวด ในวันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2564 อีกด้วย