กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 (Bayh-Dole Act)” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากร โดยมี ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นวิทยากรบรรยายผ่านระบบออนไลน์ มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังการเสวนารวมกว่า 70 คน
ดร. กิติพงค์ กล่าวถึงสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฯ ที่ต้องการปลดล็อกการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม จากเดิมเมื่อทำผลงานออกมาแล้ว ผลงานนั้นจะตกเป็นของหน่วยงานให้ทุนเป็นผู้ถือครองสิทธิ์ เมื่อต้องการนำไปใช้ประโยชน์ต้องไปขอจากหน่วยงานให้ทุน ซึ่งมีแนวทางการปฏิบัติต่างกัน เมื่อมี พ.ร.บ. นี้ขึ้นมา จะช่วยให้สิทธิความเป็นเจ้าของตกไปอยู่ที่หน่วยงานผู้รับทุน หรือนักวิจัยที่อยู่ภายใต้หน่วยงานก็สามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยฯ ได้ด้วย โดยในกรณีที่มีการนำผลงานวิจัยฯ ไปใช้ประโยชน์แล้วมีผลประโยชน์หรือประโยชน์ตอบแทนเกิดขึ้น พ.ร.บ. นี้กำหนดให้ผู้เป็นนักวิจัยได้รับผลประโยชน์ด้วย และต้องมีการแบ่งประโยชน์ให้กับผู้ทำวิจัยอย่างเหมาะสม ซึ่งทางคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) จะไปกำหนดเป็นแนวทางมา เพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักวิจัยนำผลงานวิจัยฯ ไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งริเริ่มการทำวิจัยต่างๆ เพิ่มมากขึ้น จุดมุ่งหมายหลัก คือต้องการสร้างผลกระทบจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่รัฐสนับสนุนทุน ไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสังคมได้อย่างแท้จริง และต้องนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ภายในระยะเวลาที่กำหนด
“การใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ผู้รับทุนเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม มีหน้าที่ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ผู้ให้ทุนได้ออกหนังสือรับทราบความเป็นเจ้าของหรือระยะเวลาตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด รวมถึงต้องมีการรายงานการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม และมีการจัดสรรรายได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในระเบียบของคณะกรรมการ โดยเป็นการจัดสรรให้นักวิจัย หรือกรณีเป็นสถาบันอุดมศึกษา สามารถจัดสรรไปใช้สำหรับการวิจัยและสร้างนวัตกรรมได้ กรณีที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก่อนครบระยะเวลาที่กำหนด สามารถยื่นคำขอพร้อมแสดงหลักฐานความพยายามในการใช้ประโยชน์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบของคณะกรรมการ” ดร. กิติพงค์กล่าว
การดำเนินการเพื่อจะได้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมนั้น ผู้ได้รับทุนต้องเปิดเผยผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้ผู้ให้ทุนทราบ เนื่องจากผลงานวิจัยฯ เกิดขึ้นจากการสนับสนุนทุนด้วยงบประมาณของรัฐ จึงควรต้องมีการเปิดเผยให้ทราบถึงผลของการใช้งบประมาณ และเพื่อเป็นหลักฐานแก่ผู้ให้ทุนทราบว่า ผู้รับทุนได้ค้นพบอะไรภายใต้สัญญาให้ทุน เพื่อนำไปสู่การขอเป็นเจ้าของในสิ่งที่ค้นพบและเปิดเผยแก่ผู้ให้ทุน ผู้ได้รับทุนยังต้องมีการแจ้งความประสงค์จะเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นการแสดงเจตนาและเป็นหลักฐานทางกฎหมาย และต้องยื่นแผนและกลไกการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแสดงความพร้อมในการเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม และตอบวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าเมื่อผลงานวิจัยตกเป็นของผู้รับทุนแล้วจะมีการนำผลงานวิจัยฯ ไปใช้ประโยชน์
นอกจากการให้รายละเอียดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมฯ แล้วดร. กิติพงค์ ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักการและแนวทางการส่งเสริม Innovation Sandbox ตามพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ มาตรา 14 ที่กำหนดให้สามารถจัดตั้ง Sandbox เพื่อส่งเสริมการวิจัยและส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่และพัฒนากำลังคนระดับสูงเฉพาะทางได้ โดยให้ได้รับการส่งเสริมและสิทธิประโยชน์ หรือการยกเว้นกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่เป็นข้อจำกัด
สำหรับเงื่อนไขในการจัดตั้ง Innovation Sandbox จะต้องเป็นการวิจัย นวัตกรรม หรือรูปแบบธุรกิจ ที่เป็นเรื่องใหม่หรือไม่เคยมีมาก่อน ต้องมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและต้องการการส่งเสริมเป็นพิเศษ รวมถึงกรณีที่การวิจัยนั้นไม่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบรองรับ หรือไม่เอื้อและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการ โดย Innovation Sandbox จะทำให้เกิดการวิจัยและนวัตกรรมด้านใหม่ ที่จะได้รับการส่งเสริมและสิทธิประโยชน์ ได้รับการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค มีการจำกัดขอบเขตชัดเจน ซึ่งสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เห็นชอบในหลักการ และกำหนดแนวทางการดำเนินงาน โดยให้สภานโยบายตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง (คณะกรรมการ Sandbox) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดตั้งและส่งเสริม Innovation Sandbox ด้วยการให้ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน สามารถทำเรื่องขอให้มีการจัดตั้ง Innovation Sandbox โดยเสนอแผนการจัดตั้ง Sandbox ต่อคณะกรรมการ ในส่วนของหน่วยงานรับผิดชอบหลักจะพิจารณาในการให้สิทธิประโยชน์พิเศษเพื่อสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการ หรือปลดล็อคกฎหมาย กฎ ระเบียบ ที่เป็นอุปสรรค จากนั้นคณะกรรมการจะทำการประเมินผลการดำเนินงาน Sandbox ถ้าสำเร็จ สามารถเสนอคณะรัฐมนตรีขยายผลในวงกว้างต่อไป
ตัวอย่างความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการจัดตั้ง Innovation Sandbox ในกลุ่มต่างๆ อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ Sandbox การพัฒนาเครื่องมือแพทย์ มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ ผู้ผลิต และผู้ใช้เครื่องมือแพทย์ มีการผลิตและทดสอบการผลิตและใช้งาน สร้างความคุ้นเคยให้เกิดการยอมรับ และการยื่นรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นเพิ่มเติม รวมถึงรับข้อคิดเห็นจากผู้ใช้ในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ กลุ่มเกษตรและอาหาร ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ มีประเด็นกฎหมายหรือระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาการวิจัย เช่น การยกเว้นกฎระเบียบเรื่องสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย (Lab Animal) โดยให้สามารถใช้สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นสัตว์ทดลองได้, การยกเว้นข้อจำกัดการวิจัยเกี่ยวกับ GMOs ให้สามารถนำมาลงแปลงทดลองเพื่อการวิจัย, การเร่งรัดผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety) สำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ, การอนุมัติให้มีการนำเข้าพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และเชื้อจุลินทรีย์เพื่อการวิจัย อนุมัติให้เคลื่อนย้ายของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหารเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อการวิจัย อาทิ รีไซเคิลของเสียจากอาหาร, ผ่อนปรนระเบียบในหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา เช่น การจัดซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์การวิจัยมือสอง, อำนวยความสะดวกให้หน่วยงานของมหาวิทยาลัยจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ง่ายขึ้น เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถออกใบกำกับภาษี เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนภาษีด้านการวิจัย 2 เท่าให้แก่ภาคเอกชน เป็นต้น