สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) นำผลงานวิจัยร่วมจัดแสดงใน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564” (Thailand Research Expo 2021)ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สังกัดกระทรวง อว. ระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน 2564 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยทางสถาบันฯ ได้นำผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์มาจัดแสดงทั้งหมด 7 ผลงาน ซึ่งสร้างประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
งานวิจัยของสถาบันฯ ที่นำมาจัดแสดงทั้ง 7 ผลงาน ได้แก่ 1. การพัฒนาฟิล์มคาร์บอนเสมือนเพชรสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารแบบยั่งยืน ทำให้บรรจุภัณฑ์มีคุณสมบัติป้องกันออกซิเจนซึมผ่านเข้าไป เพื่อให้จุลินทรีย์เติบโตช้าและลดอาหารเน่าเสีย 2. แก้วหน้าที่พิเศษขั้นสูงเพื่อกักเก็บพลังงานสะอาดแห่งอนาคต สามารถพัฒนาเป็นขั้วแบตเตอรี่ลิเทียมในภาคอุตสาหกรรม และประดิษฐ์เป็นต้นแบบเซลล์แบตเตอรี่เพื่อใช้งานจริง 3. ระบบ L-O-X สำหรับศึกษาการปรับปรุงคุณภาพอัญมณีด้วยแสงซินโครตรอน เพื่อให้ได้สีที่สวยขึ้นหรือตรงตามความต้องการของตลาด 4. การประยุกต์ใช้เครื่องเร่งอนุภาคเชิงเส้นด้านการเกษตร โดยผลิตรังสีเอกซ์เพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้สดและผลผลิตทางการเกษตร
5. การพัฒนาเครื่องตรวจวัดแก๊สชนิดโลหะออกไซด์บนแผ่นพอลิเมอร์สำหรับติดตามความสุกของผลไม้ โดยสร้างลวดลายของเซ็นเซอร์ด้วยแสงซินโครตรอน และสามารถตรวจจับแก๊สเอทิลีนที่เป็นตัวชี้วัดความสุกในผลไม้ได้ ตรวจจับได้รวดเร็ว มีขนาดเล็ก พกพาและใช้งานได้สะดวก 6. การพัฒนาชุดทดสอบการซึมผ่านของของเหลวภายใต้ความดันเพื่อประเมินประสิทธิภาพวัสดุผลิตชุด PPE และ 7. การประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในการวิจัยและพัฒนาหน้ากากผ้าไหมเพื่อทดแทนหน้ากากทางการแพทย์ ซึ่งผลการทดสอบพบว่าสามารถป้องกันละอองไอ-จามได้ดีกว่าหน้ากากทางการแพทย์และป้องกันฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้
นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังได้จัดการอบรมเชิงลึกการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ภายใต้งานมหกรรมงานวิจัยฯ ในวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน โดยนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ จะบรรยายเกี่ยวกับเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ ผศ.ดร.อาทิตย์ ฉิ่งสูงเนิน และ ผศ.ดร.พิษณุ พูลเจริญศิลป์ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ร่วมบรรยายในเรื่อง “ทิศทางเทคโนโลยีฟิล์มบางสำหรับอุตสาหกรรมไทยในอนาคต” อีกด้วย