สภานโยบายฯ เคาะงบอุดมศึกษา ปี 66 กว่า 1.14 แสนล้านบาท ส่วนด้านงบ ววน. เคาะที่ 2.9 หมื่นล้านบาท
จากการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สนอว.) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี ประธานการประชุม ฯ เปิดเผยผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือถึงกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งจะตอบสนองความต้องการของประเทศทั้งด้านการพัฒนากำลังคน การเตรียมกำลังคนที่มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง และการมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงความต้องการและความเหมาะสมกับประเทศไทย รวมถึงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ มีระบบการบริหารงบประมาณที่ยืดหยุ่นและคล่องตัว โดยเฉพาะงานวิจัยและพัฒนาที่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจริงจังจนเกิดผลที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนมีการติดตามผล Follow up และ Follow through ในการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงกับประชาชน
ทั้งนี้ที่ประชุม สนอว. ได้มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงินรวมทั้งสิ้น 114,634.7682 ล้านบาท โดยกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาดังกล่าวจะนำมาใช้ในการผลิตบัณฑิตและการพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ทั้งในลักษณะ Degree และ Non – Degree การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตและความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา รวมถึงการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษา
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(ววน.)ของประเทศ จำนวน 29,100 ล้านบาท และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ตามกรอบวงเงินดังกล่าว ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีระบบการจัดสรรแบบ Block grant & Multi-year budgeting ซึ่งกรอบงบประมาณดังกล่าว จะใช้สำหรับดำเนินการแผนงานต่อเนื่อง เช่น บีซีจี โมเดล แผนงานจีโนมิกส์ประเทศไทย แผนงานการแก้ปัญหาความยากจน โจทย์ท้าทายสังคมด้านสิ่งแวดล้อม และการแก้ปัญหาวิกฤติ และการส่งเสริมการนำผลงาน ววน. ไปใช้ประโยชน์ เป็นต้น รวมทั้งนำมาจัดสรรให้กับโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ การวิจัยวัคซีน การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอวกาศในอนาคต และเทคโนโลยีเพื่อการปรับตัวของอุตสาหกรรมสู่อนาคต