5 องค์กรใหญ่ของไทย ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติจาก ASOCIO ในฐานะผู้นำ “ไอที” มาใช้พัฒนาองค์กรได้อย่างอย่างโดดเด่น และประสบผลสำเร็จ
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ที่โรงแรม Grand Hyatt Erawan Bangkok สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) จัดงานแสดงความยินดี และมอบรางวัล ASOCIO Awards ประจำปี 2564 ให้กับ 5 องค์กรไทย โดยรางวัลดังกล่าว สมาพันธ์ ASOCIO (Asian-Oceanian Computing Industry Organization) ซึ่งเป็นองค์กรภูมิภาค ประกอบด้วยสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและบริการจาก 24 ประเทศในภาคพื้นเอเซีย-โอเชียเนีย จัดขึ้นเพื่อมอบรางวัล ASOCIO Awards ให้กับองค์กรของประเทศสมาชิกที่มีการนำไอที และ ดิจิทัลเทคโนโลยี เช่น Blockchain, IoT, AI, Robotics, Big Data, Cyber Security & Cloud based solutions มาใช้ในการพัฒนาการให้บริการด้านต่างๆ และการบริหารขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดดเด่นและประสบผลสำเร็จ
ทั้งนี้คณะกรรมการตัดสินรางวัลของสมาพันธ์ ASOCIO ได้เห็นขอบให้องค์กรของประเทศไทยได้รับรางวัล ASOCIO Awards ในแต่ละสาขาดังนี้
1. บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) สาขา Outstanding Tech Company Award จากการเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ มีการนำนวัตกรรมไอทีมาพัฒนาให้เป็นบริการด้วยฝีมือคนไทย และมีการขยายผลเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นเครื่องมือต่างๆ ทำให้เกิดการใช้งานเป็นวงกว้างมากขึ้น
2. ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย สาขา Outstanding User Organization Award ในฐานะองค์กรที่นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการงานบริการโลหิตของประเทศ โดยพัฒนาเป็นระบบที่เรียกว่า TBIS หรือ Thai Red Cross Blood Information System ที่ปัจจุบันมีข้อมูลครอบคลุมกว่า 90 % ของโลหิตบริจาคทั้งประเทศ ซึ่งตรวจโดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติและภาคบริการโลหิตแห่งชาติ เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยให้การควบคุมคุณภาพของโลหิต ได้มาตรฐาน และสร้างความปลอดภัยให้กับทั้งผู้บริจาคและผู้ป่วยที่ได้รับบริจาคมากขึ้น
3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สาขา Digital Government Award ในฐานะภาครัฐที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้บริการประชาชน โดยพัฒนาเป็นโมบายแอพพลิเคชั่น ที่เรียกว่า Police I lert you เพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่อยู่ในประเทศไทย สามารถกดขอความช่วยเหลือจากตำรวจได้โดยการส่งข้อมูลส่วนตัว ภาพถ่าย เวลาเกิดเหตุ และตำแหน่งที่เกิดเหตุ ไปยัง War Room ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยรับเรื่องตลอดเวลา 24 ชั่วโมง และจะประสานงานส่งเจ้าหน้าที่ ตำรวจเข้าช่วยเหลือ และให้บริการได้ทันที
4. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สาขา EdTech Award ในฐานะเป็นสถาบันการศึกษาที่สอนด้านไอทียุคใหม่ และเป็นหน่วยงานหลักในการผลิตบุคลากรไอทีให้กับประเทศไทย โดยปัจจุบัน ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน มหาวิทยาลัยด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์อันดับ 1 ของโลก จัดตั้งสถาบันร่วมแห่งแรกในเอเชีย ภายใต้ชื่อ “มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University)” พัฒนาบุคลากรในวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก และงานวิจัยเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย และยังจัดตั้ง ECOLE 42 BANGKOK (เอกอล 42 แบงค็อก) สถาบันสอนนักเขียนโปรแกรมฟรีแห่งแรกในไทยและในอาเซียน เพื่อสนับสนุนศักยภาพของคนไทยและแก้ปัญหาการขาดแคลนโปรแกรมเมอร์
และ 5.ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ A-MED สำนักงานพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สาขา HealthTech Award จากการพัฒนา แพลตฟอร์ม ชื่อว่า AMED Telehealth เพื่อบริหารจัดการข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ที่แยกกักตัวที่บ้านและการแยกกักตัวในชุมชน โดยผู้ที่ใช้แพลตฟอร์มนี้จะเป็นหน่วยที่ให้บริการทางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาลของรัฐ/เอกชน คลินิก ที่มีแพทย์ พยาบาลหรือสหวิชาชีพ ใช้ติดตามอาการ รักษา ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดผ่านระบบ Telemonitoring, Telehealth, Teleconsultation ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับการมอบรางวัลในปีนี้ได้จัดให้มีขึ้น ณ กรุงธากา เมืองหลวงของประเทศบังคลาเทศ ในการประชุม ASOCIO Digital Summit 2021 ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 แต่ด้วยสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ตัวแทนองค์กร ไม่สามารถเดินทางเข้าร่วมรับรางวัลดังกล่าวด้วยตนเองได้ สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาพันธ์ ASOCIO ได้ประสานงานในการรับรางวัลดังกล่าวแทน
นายสุภัค ลายเลิศ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่น่ายินดีและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่องค์กรของไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สามารถนำ “ไอที” เข้ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพกับการบริหารองค์กรและการให้บริการลูกค้าจนเป็นที่ยอมรับและได้รับรางวัลจากองค์กรระดับนานาชาติ ซึ่งรางวัลในครั้งนี้ ถือเป็นแรงผลักดันให้องค์กรทั้งภาครัฐฯ และภาคเอกชนในประเทศไทย นำ “ไอที” มาปรับใช้ และพร้อมก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง ”
ทั้งนี้ ATCI เป็นสมาคมผู้ประกอบการด้าน ICT ของไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 1989 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนให้เกิดการนำเทคโนโลยี ICT และ Digital มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในช่วงเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา ATCI ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ICT ของไทย เช่นการผลักดันให้เกิดนโยบายและแผนพัฒนาด้าน ICT ของประเทศ การปรับปรุงกฏหมาย มาตรการภาษี และมาตรฐานด้าน ICT การร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการพัฒนาความรู้และทักษะด้าน IT และ Digital ให้กับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมและบริการ การส่งเสริมอุตสาหกรรม ICT โดยเฉพาะ SME ของไทยให้เติบโตและแข่งขันได้ในภูมิภาค รวมทั้งการเข้าร่วมเป็นสมาชิกและประสานความร่วมมือกับองค์กรด้าน ICT ระหว่างประเทศ เช่น ASOCIO WITSA และ APICTA เป็นต้น