ชวนจับตาดาวหางลีโอนาร์ด ส่งท้ายปี 2564

News Update

สดร.ชวนจับตาดาวหางลีโอนาร์ด C/2021 A1 (Leonard) ตั้งแต่บัดนี้ถึง 10 ธันวาคม 2564 ในช่วงรุ่งเช้า ทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น และอีกครั้ง ตั้งแต่ 14 ธันวาคม 2564 ถึงต้นมกราคม 2565 ในช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ควรสังเกตในพื้นที่มืด ไร้แสงรบกวน แนะชมมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ หรือกล้องสองตา จะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น

                ดร. มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)   . เปิดเผยว่า ตั้งแต่บัดนี้ถึง 10 ธันวาคมนี้ ดาวหาง C/2021 A1 (Leonard) จะสามารถสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ หรือกล้องสองตา ปรากฏอยู่ในตำแหน่งของกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Boötes) เหนือขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเล็กน้อยในช่วงรุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น  ทั้งนี้ เราสามารถสังเกตกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ได้จากการลากผ่านส่วนโค้งของ “ด้ามกระบวย” ที่เป็นส่วนหางของกลุ่มดาวหมีเล็ก (Ursa Major) ส่วนโค้งจะไปบรรจบที่ดาวฤกษ์สว่างที่มีชื่อว่าดาวดวงแก้ว หรือ Arcturus

                ดาวหาง C/2021 A1 (Leonard) จะปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่บัดนี้ ถึงประมาณวันที่  7-10 ธันวาคม ก่อนจะเดินทางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ ดาวหางนั้นไม่ได้มีแสงสว่างในตัวเอง แต่จะสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ นอกจากนี้แสงอาทิตย์จะทำให้น้ำแข็งและแก๊สในดาวหางเกิดการระเหิดออก ถูกทิ้งไว้ตามวงโคจรของดาวหาง กลายเป็นหางที่พุ่งไปในอวกาศ สะท้อนแสงอาทิตย์ทำให้ดาวหางสว่างเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายความว่ายิ่งดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากเท่าไหร่ ก็จะมีความสว่างมากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยิ่งดาวหางใกล้ดวงอาทิตย์ก็หมายความว่าจะสังเกตเห็นได้ยากขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากดวงอาทิตย์จะขึ้นเหนือขอบฟ้าตามหลังดาวหางในอีกไม่นาน ทำให้ต้องสังเกตดาวหางผ่านแสงสนธยา  ดังนั้น ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 10 ธันวาคม จึงเป็นช่วงที่จะสามารถสังเกตดาวหางได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ดาวหางดวงนี้สังเกตด้วยตาเปล่าค่อนข้างยาก จึงควรใช้กล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาช่วยสังเกตการณ์ พยายามสังเกตหาฝุ่นมัวๆ หรือ “ดาว” ดวงหนึ่งที่ไม่ได้คมชัดเช่นดาวดวงอื่น เมื่อบันทึกภาพดาวหางดวงนี้ผ่านกล้องถ่ายภาพด้วยการเปิดหน้ากล้องนานๆ จะสามารถสังเกตเห็นหางและสีเขียวอันเป็นเอกลักษณ์ของดาวหางได้

               ความพิเศษอย่างหนึ่งของดาวหางดวงนี้ คือเป็นดาวหางที่มีอัตราเร็วในการเคลื่อนที่ค่อนข้างเร็วมาก ด้วยอัตราเร็วกว่า 254,412 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำให้ดาวหางดวงนี้จะเปลี่ยนตำแหน่งอย่างรวดเร็ว หากเรานำภาพถ่ายสองภาพมาเปรียบเทียบกันเราจะพบว่าดาวหางมีการเปลี่ยนตำแหน่งเมื่อเทียบกับดาวพื้นหลัง ผู้ที่สังเกตดาวหางดวงนี้ติดต่อกันในแต่ละคืนจะพบว่ามันย้ายตำแหน่งไปอย่างรวดเร็ว และดาวหางนี้จะพ้นไปจากกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ภายในเวลาไม่กี่วัน ก่อนจะไปปรากฏอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ จากนั้นดาวหางจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์แล้วโผล่ออกมายังอีกด้านหนึ่งกลายเป็นดาวหางช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า สังเกตได้ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป จนถึงต้นเดือนมกราคม 2565 ดร. มติพล กล่าวปิดท้าย

               ดาวหาง C/2021 A1 (Leonard) จัดเป็นดาวหางคาบยาว โคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งในรอบใช้เวลาประมาณ 80,000 ปี ค้นพบเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2021 โดย G. J. Leonard จาก Mount Lemmon Observatory เป็นเวลาหนึ่งปีก่อนที่ดาวหางจะมาถึงตำแหน่งวงโคจรใกล้ที่สุดของดวงอาทิตย์ (perihelion) ในวันที่ 3 มกราคม 2022 พอดี นับเป็นดาวหางที่สว่างที่สุดที่จะสังเกตเห็นได้ในปี 2021 ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าติดตามส่งท้ายปี 2564