กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยขอนแก่น บริษัท เบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด บริษัท จีพี มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไอ-มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ภายใต้ทุนวิจัยร่วมจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อวิจัยและพัฒนา แพลตฟอร์มระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศ โดยมี ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล รักษาการผู้อำนวยการศูนย์เอ็นเทค สวทช. และ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล หัวหน้าทีมวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน ศูนย์เอ็นเทค สวทช. พร้อมผู้บริหารหน่วยงานพันธมิตร เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้
ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการด้านบริหารงานวิจัย บพข. กล่าวว่า บพข. เป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่จัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ รวมถึงทุนสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างตลาดนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ การพัฒนาแพลตฟอร์มทางนวัตกรรมในภาคการผลิตและภาคบริการ และทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการเพื่อการให้บริการด้านคุณภาพและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งนี้ การให้ทุนดังกล่าวมุ่งเน้นการสนับสนุนแผนงานที่มีความร่วมมือหรือการร่วมลงทุนกับผู้ใช้ประโยชน์ อาทิ SMEs และภาคอุตสาหกรรม อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งมีภารกิจในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ และการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยภาครัฐ และภาคเอกชนในการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมมูลค่าสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ที่เป็นหนึ่งในหัวข้อการสนับสนุนที่ บพข. มุ่งเน้น และคาดหวังว่าโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศนี้ จะสามารถช่วยเพิ่มศักยภาพ และเกิดประโยชน์กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยได้ต่อไป
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล รักษาการผู้อำนวยการศูนย์เอ็นเทค สวทช. กล่าวว่า สวทช. มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันประเทศด้านการไปสู่ carbon neutrality ผ่านศักยภาพด้านการวิจัยพัฒนาด้านยานยนต์สมัยใหม่ทั้งด้านแบตเตอรี่และยานยนต์ โดยมุ่งหวังที่จะส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านของประเทศไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและลดภาระต่อสิ่งแวดล้อมในภาพรวม ซึ่งโครงการวิจัยภายใต้ความร่วมมือนี้ มองเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมไปกับการพิจารณาการจัดการในภาพรวมของการใช้เทคโนโลยีในการยกระดับการให้บริการระบบประจุไฟฟ้าสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายในการผลิตในระดับ 360,000 คันในอีกสี่ปีข้างหน้า และในระดับ 675,000 คันในปี 2030 โดยนำเสนอเทคโนโลยีการประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยนที่มีความรวดเร็ว คล่องตัว และตอบสนองความต้องการการใช้งานได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งในมุมของการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและระบบประจุไฟฟ้า ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการผลิตและให้บริการอีกด้วยจะเห็นได้จากแนวความคิดในการพัฒนาระบบร่วมกันระหว่างผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยน และผู้ให้บริการระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยน ที่มีความหลากหลาย มาร่วมมือกันพัฒนาเป็นแพลตฟอร์ม ทำให้เกิดรูปแบบการผลิตและให้บริการที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ ทั้งนี้โครงการฯ มีเป้าหมายเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านการพัฒนาชิ้นส่วนสำคัญในระบบแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และสร้างเทคโนโลยีแพล็ตฟอร์มมาตรฐานสำหรับแพ็กแบตเตอรี่ที่มีคุณลักษณะสามารถสับเปลี่ยนได้ในหลายรูปแบบของการใช้งาน
ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล หัวหน้าทีมวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ สวทช. ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวถึงที่มาว่า โครงการนี้มีเป้าหมายในลดข้อจำกัดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ทางทั่วโลกกำลังผลักดัน โดยเฉพาะการใช้งานในรูปแบบมอเตอร์ไซต์ที่มีการใช้งานในประเทศไทยถึงกว่า 21 ล้านคัน โดยต้องการดำเนินการการวิจัยและพัฒนารูปแบบเพื่อลดภาระทางต้นทุนของผู้ผลิตและข้อจำกัดด้านการใช้ของผู้ใช้งานมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะด้านการบำรุงรักษาและด้านระยะเวลาการชาร์จซึ่งจะส่งผลต่อความสะดวกและต้นทุนของการถือครอง โดยโครงการนี้เป็นการดำเนินการศึกษารูปแบบความเป็นไปได้ในการพัฒนารูปแบบของแพ็กแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนได้แบบมาตรฐานหรือแพล็ตฟอร์มของแพ็กแบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานในมอเตอร์ในมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าหลายรุ่น หลายยี่ห้อ และสามารถชาร์จได้กับผู้ให้บริการหลายสถานี เพื่อให้เกิดความสะดวก คุ้มค่าในการใช้งาน ลดภาระของการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงง่ายในการจัดการหลังสิ้นอายุขัย โดยในโครงการแบ่งการดำเนินการงานออกเป็น 4 ขอบเขต ได้แก่
(1) การร่วมกำหนดแพลตฟอร์มแบตเตอรี่แพ็กแบบสับเปลี่ยนได้ที่เหมาะสมสำหรับมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าที่ใช้งานในประเทศไทย กับผู้ร่วมโครงการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
(2) การพัฒนา ดัดแปลง และปรับปรุง แพ็กแบตเตอรี่มอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าและสถานีชาร์จและระบบกับผู้ผลิตแบตเตอรี่ มอเตอร์ไซต์ และผู้ให้บริการสถานีชาร์จ
(3) การทดสอบการต้นแบบตามมาตรฐานและในการใช้งานจริง (4) สรุปผลและข้อเสนอแนะทั้งในด้านการกำหนดมาตรฐาน กฎระเบียบ ข้อบังคับ และ นำเสนอรูปแบบธุกิจที่เหมาะสมกับการให้บริการระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งผลของการดำเนินโครงการฯ จะนำมาซึ่งบทสรุปเบื้องต้นในการพัฒนาและประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยนสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการต่อยอดไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งภาคส่วนการผลิต และการให้บริการในอนาคต
“ความร่วมมือในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรหลายภาคส่วน ทั้งภาคการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการสนับสนุนบุคลากรและองค์ความรู้ในการร่วมออกแบบและพัฒนาระบบแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนสำหรับจักรยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงพันธมิตรจากภาครัฐ ได้แก่ กฟผ. และภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ไอ-มอเตอร์ เมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัท จีพี มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) และบริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ร่วมดัดแปลงรถจักรยานยนตร์ไฟฟ้าและร่วมทดสอบแพลตฟอร์มการประจุไฟฟ้าภายใต้โครงการนี้ ซึ่งถือเป็นการทำงานที่เป็นเครือข่ายใหญ่ ที่เชื่อมโยงทั้งผู้ผลิตและผู้ให้บริการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและแฟลตฟอร์มการประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยน เป็นจุดเริ่มต้นสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มการประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยน ที่จะถูกประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในประเทศไทยต่อไป”