ทีม EcoSpace จากประเทศไทยตอบโจทย์ธุรกิจนวัตกรรมอวกาศ คว้าแชมป์ S-Booster ที่ญี่ปุ่น หลังโชว์ไอเดียชี้เป้าไฟป่าด้วยข้อมูลจากดาวเทียม
ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด รองผู้อำนวยการด้านกิจการอวกาศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า (GISTDA) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา GISTDA และ The National Space Policy Secretariat (NSPS) Cabinet Office, The government of Japan ได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมอวกาศ มากกว่า 5 ปี โดยมีเป้าหมายสำคัญในการขยายศักยภาพและขีดความสามารถของผู้ประกอบการทั้งไทย และต่างประเทศในด้านอุตสาหกรรมดั้งเดิม เพื่อเข้าสู่โอกาสทางธุรกิจด้วยนวัตกรรม Upstream และ Downstream จากอวกาศ เช่น การใช้ข้อมูลระบุตำแหน่งด้วยดาวเทียม (Location Positioning Service) หรือการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจโลก หรือดาวเทียมโทรคมนาคม เป็นต้น ประกอบกับ GISTDA เองก็มีแนวคิดในการสร้างระบบเศรษฐกิจอวกาศ (Space Economy)ในประเทศไทยให้แข็งแกร่ง เพื่อเข้าสู่ End User ได้มากยิ่งขึ้น
ดังนั้น GISTDA และ NSPS รวมถึงหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ จึงร่วมกันจัดกิจกรรม S-Booster มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะช่วยผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุนให้กลุ่ม Startup และ SME ที่มีศักยภาพได้เข้าสู่ Space and Geoinformatics Value Chain เพื่อยกระดับขีดความสามารถสู่การเป็นผู้ผลิตและผู้พัฒนานวัตกรรมอวกาศและภูมิสารสนเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจอวกาศในอนาคต โดย GISTDA ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทย และผลักดันร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร พร้อมสร้างโอกาสการต่อยอดการส่งเสริมการลงทุนในลักษณะ Global Value Chain มาโดยตลอด
สำหรับปีนี้ S-Booster รอบตัดสินจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น โดยก่อนหน้านี้ได้เปิดรับไอเดียที่ตอบโจทย์ธุรกิจนวัตกรรมอวกาศแบบไม่มีข้อจำกัด โดยเฉพาะการใช้ทรัพยากรอวกาศจากประเทศญี่ปุ่น รวมถึง ข้อเสนอไอเดียที่ตอบโจทย์บริษัทชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น เช่น Honda, SONY, JSAT, SKY Perfect Group และ NTT Docomo เป็นต้น
ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ กล่าวว่า ปีนี้มีทีมเก่งๆ ที่เข้ารอบสุดท้ายทั้งหมด 12 ทีม โดยในส่วนของฝั่งเอเชียมีทีมที่ผ่านเข้ารอบ 5 ทีม ได้แก่ ทีม EcoSpace จากประเทศไทย ทีม Lunar Night Survival as Service จากประเทศออสเตรเลียทีม Sujin จากประเทศอินเดีย ทีม Energy Orbit จากประเทศอินเดีย และทีม ChipSpace จากประเทศสิงค์โปร์ ผลปรากฏว่าทีม EcoSpace จากประเทศไทย คว้ารางวัลชนะเลิศ ด้วยผลงานการชี้เป้าตรวจจับไฟป่า โดยใช้ข้อมูลที่บูรณาการจากดาวเทียม ทั้งเครือข่าย Low Power Wide Area Network ของ AIS เซนเซอร์ตรวจจับในพื้นที่ และการใช้ข้อมูลภาพจากดาวเทียมของ GISTDA เพื่อลดปัญหาการรับส่งสัญญาณและการสื่อสารในพื้นที่เป้าหมาย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่และกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ ในพื้นที่ที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาไฟป่าในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งได้เริ่มใช้งานจริงแล้วที่จังหวัดเชียงใหม่
สำหรับรางวัลที่ทีม EcoSpace ได้รับมีมูลค่ากว่า 10 ล้านเยน หรือประมาณ 3 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้รับ รางวัล Sponsor Award จาก SONY Corporation อีก 5 แสนเยน หรือกว่า 8 หมื่นบาทอีกด้วย