วันก่อนไปงานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2564 จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผลงานหนึ่งที่น่าสนใจคือ“วีลแชร์ไฟฟ้า” ควบคุมด้วยศีรษะเพื่อผู้พิการ ของ “อาจารย์ไพลรัตน์ สำลี” หรือ “อาจารย์ต่าย” หัวหน้างานวิจัยพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ วิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ซึ่งอาจารย์ผู้นี้คิดค้นนวัตกรรมหลากหลายอย่าง และกวาดรางวัลมาหลายเวที
อาทิ แขนกลสำหรับผู้พิการ หุ่นยนต์กู้ภัย อุปกรณ์เตือนภัยน้ำท่วม รถจักรยานยนต์กับรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากการผลักขั้วแม่เหล็ก ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เคยทดลองขับขี่มาแล้วด้วย และ “รถไถนาไฟฟ้า” ราคาถูกกว่าท้องตลาด 2-3 เท่า แถมไร้เสียง ไร้ควัน ไม่ต้องเติมน้ำมัน และสามารถใช้งานไถนาขับลุยโคลนได้จริง เรียกว่าเป็นรถไถนาลดโลกร้อนก็ว่าได้
สำหรับวีลแชร์ไฟฟ้าคันนี้ใช้งานง่าย คนพิการที่เป็นประเภทกล้ามเนื้ออ่อนแรงก็สามารถนั่งรถวีลแชร์นี้ได้สบายๆ โดยใช้การทำงานการเคลื่อนที่ด้วยระบบไมโครคอนโทรลเลอร์ ด้วยการใช้สารกึ่งตัวนำชนิดหนึ่งที่ใช้จับความเอียงของมุม ที่เรียกว่า “ไจโลสโคป” นำมาติดตั้งไว้กับอุปกรณ์ที่คาดผม เพื่อให้ยึดกับศีรษะของผู้พิการ
หลังจากผู้พิการนั่งบนรถ และสวมอุปกรณ์ยึดรัดศีรษะเสร็จเรียบร้อย จากนั้นก็สามารถสั่งการได้ด้วยตัวเองด้วยการก้มหน้าเพียงเล็กน้อย (ประมาณ 10 องศา) วีลแชร์ไฟฟ้าก็จะเดินหน้า ถ้าเงยศีรษะไปด้านหลังเล็กน้อย วีลแชร์ก็จะถอยหลัง ส่วนการเลี้ยวขวาและเลี้ยวซ้ายก็เพียงแค่เอียงศีรษะไปทางด้านขวาหรือด้านซ้ายในมุมแนวระนาบเล็กน้อย วีลแชร์ก็จะเลี้ยวไปตามทางที่ต้องการ
วีลแชร์ไฟฟ้าคันนี้ใช้งบสร้าง 30,000 บาท สามารถเคลื่อนที่ได้เร็ว 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นทางลาดชันได้ 20องศา ช่วงนี้อยู่ระหว่างทดลองขั้นสุดท้าย คาดว่าจะผลิตใช้ได้ในสิ้นปีนี้
อาจารย์ไพลรัตน์วัย 45 ปีเล่าว่า ส่วนใหญ่จะคิดค้นอุปกรณ์และนวัตกรรมเพื่อคนพิการ เพื่อให้มีชีวิตได้อย่างคนปกติและมีความสุข แรงบันดาลใจก็คือเป็นผู้พิการคนหนึ่งที่รู้ปัญหาและข้อจำกัดของผู้พิการเป็นอย่างดี โดยเป็นโปลิโอมาแต่กำเนิด แต่ก็ไปผ่าตัดมาหลายครั้งจนเดินได้เกือบเหมือนคนปกติ
โครงการต่อไปกำลังจะประดิษฐ์ วีลแชร์ควบคุมด้วยศีรษะ แต่จะพัฒนาต่อ ให้เป็นระบบการนอน และยืนได้ โดยใช้ศีรษะในการคอนโทรล เพื่อหยิบจับในที่สูงๆได้ เหมาะสำหรับคนพิการที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง ด้านขา ด้านแขน จะได้ใช้ประโยชน์ในการออกกำลังกายได้ด้วย สามารถนั่ง นอน ยืน ได้ทั้งหมดเลย สามารถพัฒนา เป็นเตียงได้ ด้วย คือถ้ากดสวิตช์ก็กลายเป็นเตียงนอน กดสวิตช์ก็ยืนขึ้นได้ ทั้งที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงด้านขาแต่สามารถยืนได้ สามารถออกกำลังกายได้ด้วย ในรถคันเดียวกัน
นับเป็นนวัตกรรุ่นใหม่อีกคนที่ช่วยให้คนพิการได้ใช้ชีวิตเยี่ยงคนปกติอย่างมีความสุข.