วันที่ 14 ตุลาคม 2563 ถือเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของวงการการศึกษาไทย
นั่นก็คือ คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา(กมอ.) ที่มี “นายกิตติชัย วัฒนานิกร” เป็นประธาน ได้มีมติสำคัญ คือ “ยกเลิกการกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาในแต่ละระดับปริญญา กรณีกำหนดให้สำเร็จการศึกษาได้ไม่เกินกี่ปีการศึกษา”
หมายความว่า จากนี้ เป็นต้นไป การศึกษาของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาทุกระดับชั้น ตั้งแต่ปริญญาตรี ที่แต่เดิมหากเรียนไม่จบภายในกำหนดคือ 8 ปี จะถูกรีไทร์ หรือ ถูกให้ออกจากมหาวิทยาลัย ให้ยกเลิกการถูกรีไทร์ เช่นเดียวกับระดับปริญญาโท ที่ให้กำหนดระยะเวลาเรียนไม่เกิน 5 ปี และ ปริญญาเอก ที่ให้กำหนดระยะเวลาเรียนไม่เกิน 6 ปี โดยให้สามารถเรียนต่อได้เลย หากไม่จบการศึกษาในระยะเวลาที่กำหนด
นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและถือเป็นผลงานของ “ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ที่มีนโยบายเสนอให้ยกเลิกการกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาในแต่ละระดับปริญญา
“ผมได้สั่งการให้ยกเลิกการกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาในระดับอุดม ศึกษาทุกระดับชั้น ตั้งแต่ปริญญาตรี – ปริญญาโท และ ปริญญาเอก โดยให้สามารถเรียนต่อได้เลย หากไม่จบการศึกษาในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในการเรียนรู้องค์ความรู้และทักษะใหม่ๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตหรือ Lifelong Learning โดยต่อไปหลังยกเลิกการกำหนดเกณฑ์แล้ว นักศึกษา สามารถเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วย โดยไม่ต้องพะวงกับการถูกรีไทร์ เพราะการเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วยจะช่วยในเรื่องการพัฒนาทักษะ ความชำนาญ ประสบการณ์การทำงาน เพราะที่ผ่านมา นักศึกษาระดับปริญญาตรี ส่วนใหญ่ที่จบออกไปแล้ว ไม่สามารถทำงานได้อย่างชำนาญหรือทำงานไม่เป็นเลย เนื่องจากไม่มีทักษะ เพราะผ่านการฝึกงานเพียง 1 เทอมเท่านั้น นายจ้างหรือผู้ประกอบการก็ไม่อยากได้ ยิ่งสังคมในยุคปัจจุบันต้องการทักษะในการทำงานมาก ดังนั้น นักศึกษาจึงควรเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วย ทั้งนี้ มีนักศึกษา ไม่กี่คณะที่จบออกไปแล้วสามารถทำงานได้เลย เช่น คณะแพทย์ คณะวิศวะ เป็นต้น ที่สำคัญ หลังจากนี้ จะให้นักศึกษาในระดับปริญญาตรี สามารถเรียนจบได้ภายใน 2 ปี ถ้ามีความสามารถเพียงพอหรือเก่งจริงๆ โดยไม่จำเป็นจะต้องเรียนให้จบตามเวลาคือ 4 ปีหรือ 3 ปีครึ่ง หรือ อีกทางเลือกหนึ่งคือ ให้เรียน 2 ปีและฝึกงาน 2 ปี เพื่อให้เกิดความชำนาญ ถ้าไม่ทำแบบนี้ อุดมศึกษาของเราจะสู้กับประเทศสิงคโปร์หรือมาเลเชียไม่ได้” ศ.ดร.เอนก กล่าว
หลังจาก ศ.ดร.เอนก มีนโยบาย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 มีการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา(กมอ.) มี นายกิตติชัย วัฒนานิกร เป็นประธาน มีวาระสำคัญ คือ การเสนอให้ยกเลิกการกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาในแต่ละระดับปริญญา ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ก่อนจะมีมติให้ยกเลิกการกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาในแต่ละระดับปริญญา กรณีกำหนดให้สำเร็จการศึกษาได้ไม่เกินกี่ปีการศึกษา
ทั้งนี้ ให้สภาสถาบันกำกับดูแลให้บัณฑิตมีผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ทันสมัยและสอดคล้องตามมาตรฐานทางวิชาการและวิชาชีพที่เป็นปัจจุบันขณะสำเร็จการศึกษา
อย่างไรก็ตามเนื่องจากการยกเลิกดังกล่าวเป็นการยกเลิกข้อกำหนดในเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร ดังนั้น ให้หารือคณะอนุ กก.ด้านกฎหมายว่า กมอ. สามารถพิจารณาโดยใช้อำนาจตามข้อ 17 แห่งเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับ ป.ตรี และ ข้อ 18 แห่งเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาได้หรือไม่ หรือจะมีแนวทางอื่นใดในการดำเนินการดังกล่าว
และจากนี้ กมอ.จะให้อำนาจสภามหาวิทยาลัยของแต่ละมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน สามารถกำหนดเกณฑ์ระยะเวลาได้เองให้สอดคล้องกับนโยบายและแนวทางของแต่ละมหาวิทยาลัย
นี่คือเรื่องดีๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคน เพราะชีวิตคือการเรียนรู้ หรือ Lifelong Learning