สนพ.เผยผลการวิเคราะห์ตำแหน่งที่ตั้งและจำนวนเครื่องอัดประจุที่เหมาะสมสำหรับแผนพัฒนาสถานีอัดประจุสาธารณะ วางเป้าหมายในปี 2030 ไทยควรมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มอีก 567 แห่ง และเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบ Fast Charge 13,251 เครื่อง ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วไทย เน้นเข้าถึงง่าย ต้นทุนเหมาะสม
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่าสนพ. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดสัมมนาโครงการจัดทำแผนการพัฒนาสถานีประจุแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ โดยเชิญกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. หน่วยงานภาครัฐ 2. หน่วยงานภาคขนส่งและผู้ให้บริการอัดประจุ EV 3. หน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า และ 4. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เข้าร่วมสัมมนาให้ความเห็น เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติที่ได้มีการออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30@30 คือ การกำหนดเป้าหมายการผลิตและการใช้ ZEV (Zero Emission Vehicle) และกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะแบบ Fast charge จำนวน 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1,450 สถานี ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573
ทั้งนี้ หลักการและแนวคิดในการศึกษาตำแหน่งที่ตั้งและจำนวนเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับแผนพัฒนาสถานีอัดประจุสาธารณะต้องเข้าถึงง่าย ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้สูง และต้องมีต้นทุนที่เหมาะสม เช่น ที่ดิน และค่าไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น ความต้องการกำลังไฟฟ้า ตำแหน่งที่ตั้งและจำนวนเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะสม การกระจายตัวของเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุม และพัฒนาระบบในการหาตำแหน่งที่เหมาะสมเพื่อตั้งสถานีอัดประจุรวมถึงจำนวนหัวจ่ายที่เหมาะสมในแต่ละสถานี
ผลการศึกษาตำแหน่งที่ตั้งและจำนวนเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบ Fast Charge ที่เหมาะสม สำหรับแผนพัฒนาสถานีอัดประจุสาธารณะในปี 2030 พบว่า ควรมีสถานีเพิ่มอีก 567 แห่ง (ขณะที่สถานีปัจจุบันมีอยู่ 827 แห่งจะรวมเป็น 1,394 สถานีภายในปี 2030) และมีเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้ารวม จำนวน 13,251 เครื่อง โดยแบ่งเป็นสถานีอัดประจุสาธารณะในเขตพื้นที่หัวเมืองใหญ่ จำนวน 505 แห่ง เครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 8,227 เครื่อง และสถานีอัดประจุสาธารณะเขตพื้นที่ทางหลวง (Highway) จำนวน 62 แห่ง เครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 5,024 เครื่อง
ส่วนในเรื่องของต้นทุนนั้น เนื่องด้วยธุรกิจบริการสถานีอัดประจุนั้นเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ต้นทุนสูง ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อระยะเวลาการคืนทุน ไม่ว่าจะเป็น ค่าที่ดิน ค่าปรับปรุงพื้นที่ ค่าติดตั้งเครื่องอัดประจุ ในขณะที่ค่าดำเนินการส่วนใหญ่แล้วนั้นจะเป็นค่าไฟฟ้าเป็นหลัก ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจสถานีอัดประจุมีต้นทุนที่เหมาะสมและเป็นธุรกิจที่น่าลงทุน จึงได้มีการเสนอแนวทางการสนับสนุนในช่วง 2 ปีแรก คือ การอุดหนุนค่าเครื่องอัดประจุ นอกจากนี้ อาจจะมีการขยายระยะเวลาของการปรับใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบ Low Priority รวมทั้งมีการจัดสรรพื้นที่สำหรับสร้างสถานีอัดประจุ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านระบบไฟฟ้าในพื้นที่ สร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน พร้อมทั้งมีการกำหนดจำนวน/ขนาดพื้นที่จอดรถ เพื่อรองรับการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับอาคารประเภทต่าง ๆ
อย่างไรก็ดี สนพ. จะนำผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำแผนการพัฒนาสถานีประจุแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ เพื่อให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วนต่อไป