จิสด้าร่วมมือเอกชนญี่ปุ่น ทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัยสึนามิ ส่งตรงข้อมูลจากอุปกรณ์ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ISS เป็นการแจ้งเตือนภัยผ่านระบบดาวเทียมโดยตรง เผยปัจจุบันมีบริษัทยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมอวกาศในไทย
ภายในงาน “MGA – Multi GNSS Asia 2022” ซึ่ง จัดขึ้นระว่างวันที่ 10-11 มีนาคม 2565 ที่ The Royal Paradise Hotel & Spa Patong Phuket จ.ภูเก็ต สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ร่วมกับบริษัทเอกชนชั้นนำ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดำเนินการทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัยสึนามิ (Tsunami Alert System) โดยข้อมูลจะถูกส่งตรงจากอุปกรณ์ของบริษัท SONY ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ซึ่งถือเป็นการแจ้งเตือนภัยผ่านระบบดาวเทียมโดยตรง
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการนำเสนอเทคโนโลยีดาวเทียมระบุตำแหน่ง รวมถึงการเสวนา การประชุมวิชาการ การประกวด การนำเสนอต้นแบบของดาวเทียมระบุตำแหน่ง (rapid prototype development :rpd) เพื่อเฟ้นหา Startup ที่จะสร้างธุรกิจอวกาศจากการใช้เทคโนโลยีอวกาศ
ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด รองผู้อำนวยการด้านกิจการอวกาศของ GISTDA กล่าวว่า การดำเนินการทดสอบร่วมกับ SONY ในครั้งนี้ ระบบจะถูกทดลองบนพื้นที่ทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต ที่เป็นจุดเกิดเหตุของสึนามิ เมื่อปี 2547 ซึ่งทำให้ SONY มั่นใจว่าระบบนี้จะเป็น ระบบที่ปฏิวัติวงการอวกาศในอนาคต โดย SONY เป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่นที่กำลังรุกคืบในอุตสาหกรรมอวกาศที่มุ่งพัฒนาไม่ใช่เพียงการสร้างดาวเทียมหรือจรวดอย่างที่เราคุ้นชินเท่านั้น แต่ยังดึงจุดแข็งของตัวเองด้านการทำชิปอิเล็กทรอนิกส์มาสร้างเป็นอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับดาวเทียมระบุตำแหน่ง หรือสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ได้โดยตรง โดยไม่ต้องพึ่งพาเครือข่ายโทรศัพท์ ซึ่งพัฒนาโดยทีมวิจัยของ SONY และความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่การลงทุนธุรกิจอวกาศในประเทศไทยต่อไป
อย่างไรก็ดี ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ชื่อว่า SoftBank ที่พัฒนาเทคโนโลยีจากดาวเทียมระบุตำแหน่ง ก็เป็นอีกหนึ่งรายที่พร้อมลงทุนในประเทศไทย ปัจจุบันเริ่มมีการหารือกับ partner ในไทยเพื่อเตรียมรุกตลาดอย่างเต็มตัว ทั้งบริษัทไทยผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบโทรคมนาคม รวมถึงผู้ให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สายในไทย รวมไปถึง อีก 2 บริษัทของญี่ปุ่นที่พร้อมลงทุนกับ partner ในไทย ได้แก่ NTT Data และ MSJ Magellan Systems Japan ในอุตสาหกรรมอวกาศดาวเทียมระบุตำแหน่งอีกด้วย
ด้านนายมานาบุ คิมูระ รองผู้จัดการทั่วไปของ Sony Group Operation กล่าวว่า ระบบนี้จะเป็นระบบที่ต่อยอดการวิจัยขั้นสูงของประเทศไทยได้ โดยหมายมั่นว่าระบบนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมบนพื้นที่ EECd ที่เน้นด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและอวกาศของประเทศไทย และพร้อมลงทุนเพิ่มเติมการวิจัยในเทคโนโลยีต่อไป ปัจจุบัน อุปกรณ์เทคโนโลยีดังกล่าว ได้พัฒนาเป็นต้นแบบ หรือ Prototype และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยได้ทดลองวิจัยและใช้งานแล้วกว่า 50 ชุด เพื่อขยายผลการใช้งานต่อในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การติดตามเรือในธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นต้น
ส่วนนายมาโกโตะ โนดะ รองประธานบริษัท SoftBank กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีอุปกรณ์รุ่นใหม่ชื่อว่า อิชิมิล (ichimill) ซึ่งมีขนาดเล็กสามารถประยุกต์ใช้ได้กับหลายอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ไร้คนขับ การเกษตรแม่นยำ การก่อสร้าง รวมถึงการนำไปติดตั้งกับพื้นที่ที่ต้องการวัดการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการความละเอียดสูง เช่น การเคลื่อนตัวของเขื่อนหรือสะพาน ซึ่งต้องการความแม่นยำเชิงพื้นที่สูงมากๆ ในระดับ 1-2 เซนติเมตร ซึ่งอุปกรณ์ที่เรามีอยู่ในขณะนี้ยังไม่สามารถตอบสนองได้ ยกตัวอย่างเช่น วันนี้เราใช้ google map นำทาง ผ่านมือถือซึ่งยังไม่แม่นยำเพียงพอ เพราะไม่รู้ว่าเราอยู่เลนไหน หรือไม่สามารถบอกได้ว่าเรากำลังอยู่บนทางด่วนหรือใต้ทางด่วน หากมีอุปกรณ์ของตัวนี้เข้ามาเสริมก็จะทำให้ไม่มีกังวลใจถึงปัญหาดังกล่าว