อพวช.จับมือ องค์การสวนสัตว์ฯ โชว์ผลงานสตัฟฟ์สัตว์ด้วยเทคนิคต่าง ๆ เพื่อร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านการวิจัยและสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ รักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่หายากของไทย
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) กล่าวว่า “อพวช. เป็นหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ นอกจากการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมวิทยาศาสตร์แล้ว อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ อพวช. คือ งานด้านการวิจัยและการสงวนรักษาสัตว์และพืช ธรรมชาติอันเป็นคุณค่าของแผ่นดินและของโลก เพื่อการศึกษาเรียนรู้สืบไป ปัจจุบันมีศูนย์บริหารคลังตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยาและสัตว์สตัฟฟ์ (Taxidermy) ที่มีความพร้อมและสมบูรณ์มากที่สุดอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย
ทั้งนี้ที่ผ่านมา อพวช. ได้รับความร่วมมือจากองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ในการดำเนินงานด้านการสตัฟฟ์สัตว์ด้วยเทคนิค Taxidermy มามากมาย ได้แก่ การสตัฟฟ์สัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ช้าง ยีราฟ หมีควาย เสือดำ เสือโคร่ง กวาง เพนกวิน พะยูน งูอนาคอนด้า ชิมแปนซี จระเข้ ม้าลาย รวมทั้งการซ่อมแซมสัตว์สตัฟฟ์และสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย ได้แก่ กระซู่ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร และนกแต้วแล้วท้องดำ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการจัดแสดงนิทรรศการมากมายเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์สงวนสัตว์ป่าที่ลูกหลานคนไทยอาจจะไม่เคยได้เห็นแล้วผ่านสัตว์สตัฟฟ์ (Taxidermy)”
สำหรับผลงานที่น่าสนใจของทีมนัก Taxidermist อพวช. ที่ได้รับความร่วมมือและไว้วางใจจากองค์การสวนสัตว์ฯ คือ “โรหิสรัตน์” ละมั่งหลอดแก้วตัวแรกของโลก ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อจาก พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เป็นสัญลักษณ์ของความพยายามในการอนุรักษ์ละมั่ง สัตว์ป่าสงวนของไทย โดยผลงานการสตัฟฟ์นี้ได้นำไปจัดแสดงที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ ถือเป็นความภาคภูมิใจของกระบวนการวิจัยเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าหายากของประเทศ
ด้านนายอภิเดช สิงหเสนี รองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “องค์การสวนสัตว์ฯ มีภารกิจหน้าที่ดำเนินการบริหารจัดการทางด้านทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายของประเทศให้อยู่คู่กับสังคมไทย โดยการสงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และจัดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน รวมทั้งให้ประชาชนได้มีการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุขภายใต้คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่ผ่านมาองค์การสวนสัตว์ฯ และ อพวช. ได้ร่วมมือกันในโครงการวิจัยอยู่หลายโครงการ นอกจากนั้น ยังได้รับความร่วมมือด้าน Taxidermy ด้วยการส่งซากสัตว์ที่เสียชีวิตแล้ว จากสวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว และสวนสัตว์โคราช มาให้ อพวช. ช่วยดำเนินการสตัฟฟ์สัตว์ด้วยเทคนิค Taxidermy แล้วนำกลับมาจัดแสดงที่สวนสัตว์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยของนักธรรมชาติวิทยาอีกด้วย”
สำหรับโครงการที่จะพัฒนากันต่อไปในอนาคต ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมผนึกกำลังส่งเสริมกันในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้าน Taxidermy ถือเป็นภารกิจหลักในงานด้านการอนุรักษ์ งานวิจัย และด้านการศึกษา เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้อันทรงคุณค่า ซึ่งความร่วมมือในครั้งต่อ ๆ ไป จะร่วมมือกันพัฒนาด้านความหลากหลายทางชีวภาพให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไปในอนาคต