“คณะกรรมการปฏิรูปกระเทศด้านสาธารณสุข” ผนึกพลัง 12 หน่วยงานภาครัฐ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้ “โครงการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล” โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือฯ ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ๒ (ดินแดง)การร่วมลงนามขับเคลื่อนโครงการฯเพื่อการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพระหว่างกัน หวังพัฒนาเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเครือข่ายสาธารณสุขไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรวมเรียกทั้ง 12 หน่วยงานนี้ว่า “องค์กรภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ และเทคโนโลยีสารสนเทศ”
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และยังส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมของประเทศอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุผล และเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ที่ทำให้เราต้องเร่งพัฒนาระบบบริการและการบริหารจัดการของประเทศในทุกๆ ด้านให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะระบบบริการสุขภาพประชาชน ที่ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสาตร์ของประเทศ สิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงระบบบริหาร บริการจัดการด้านสาธารณสุขของประเทศก็คือ เทคโนโลยีในการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data และการนำคลังข้อมูลขนาดใหญ่เหล่านั้น มาช่วยการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข และการวิเคราะห์เพื่อพัฒนางานบริการ จำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพและการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange) อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสอดรับนโยบายการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และแนวทางการบูรณาการฐานข้อมูลสุขภาพ
ทั้งนี้ โดยกระทรวงกลาโหม, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กรุงเทพมหานคร, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, สภากาชาดไทย, มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน), สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้จับมือร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้“โครงการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล” ในวันที่่ 17 มีนาคม 2565
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับ “องค์กรภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพและเทคโนโลยีสารสนเทศ” เป็นความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐทั้ง 12 หน่วย ที่ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ที่ยังกระจัดกระจายอยู่ในฐานข้อมูลของหน่วยบริการต่างๆ จึงมีข้อตกลงร่วมกันพัฒนาการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange : HIE) จากระเบียนข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Personal Health Record :PHR) ของแต่ละฝ่ายระหว่างกัน ทำให้เกิดประโยชน์ของการบูรณาการข้อมูลเพื่อสนับสนุนนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศ และในการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพนี้จะเกิดประโยชน์หลายด้าน เช่น ประชาชนที่มีสิทธิเข้ารับบริการด้านสุขภาพได้ทุกหน่วยบริการ, การบริการแพทย์ทางไกล และการบริการสุขภาพรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพ และการดำเนินการในระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นต้น
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า นับเป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่งของการปฎิรูประบบบริการสุขภาพของประเทศ เพื่อยกระดับการบริการและการรักษาประชาชน รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงและการบริการอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการ บรูณาการฐานข้อมูลสุขภาพของหน่วยงานทั้ง 12 หน่วยที่มาร่วมลงนามในวันนี้ เครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย เป็นหน่วยบริการในระดับทุติยภูมิ ซึ่งทำหน้าที่การส่งต่อผู้ป่วย กรณีที่มีความซับซ้อนและต้องการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญสูง การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพมีความจำเป็นและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการดูแลและให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง
โดยได้มอบหมายให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) เป็นผู้ประสานงานหลัก เพื่อให้เกิดความร่วมมือของเครือข่ายทั้งภายนอกและภายในกระทรวง อว. ขับเคลื่อนให้เกิดในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศ ที่จะนำมาสู่การสร้างความร่วมมือพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มกลางสู่การเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศ (National Health Information Platform) ซึ่งจะมีคลังข้อมูล หรือ Big Data ด้านสาธารณสุขขนาดใหญ่ โดยกระทรวง อว. ได้บรรจุแผนการขับเคลื่อนและการดำเนินงานผ่านโครงการยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม โดยการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขแบบบูรณาการ (EPI: Ending Pandemics through Innovation) ขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือเพื่อยุติการระบาดของโรคโควิด-19 และควบคุมการระบาดระลอกใหม่ด้วยนวัตกรรม (Ending Pandemics through Innovation) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อยุติผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันและในอนาคตด้วยนวัตกรรม โดยหนึ่งในภารกิจที่สำคัญในการร่วมขับเคลื่อน คือ พัฒนาระบบการเชื่อมต่อฐานข้อมูลด้านสุขภาพแบบบูรณาการ เพื่อรองรับสถานการณ์ระบาดทั้งในปัจจุบันและอนาคต แม้จะเกิดประโยชน์ต่อเครือข่ายสาธารณสุขไทยและนวัตกรรมในหลายๆ ด้าน แต่ในท้ายที่สุดแล้ว มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ยึดหลักการให้บริการประชาชนเป็นศูนย์กลาง ภายใต้ “โครงการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล” ทำให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการมีความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเจ็บป่วยไปรักษาที่ไหน แพทย์สามารถตรวจสอบประวัติการรักษา และให้การรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ”
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาด้วยความพยายามของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้นำร่องในการเชื่อมโยงข้อมูล ด้านสุขภาพผ่านระบบ Health Link ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลกว่า 100 แห่ง ที่สามารถเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลนั้นได้สำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข นำโดย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ต้องการปฏิรูประบบบริหารจัดการฐานข้อมูล และการสื่อสารของประเทศให้มีประสิทธิภาพสามารถรองรับสถานการณ์การระบาดทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่โครงการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เริ่มนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตสุขภาพที่ 13 ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูประบบการบริการและการรักษาประชาชนของประเทศ โดยกรุงเทพมหานครจะอำนวยความสะดวก และให้การความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ ให้ประสบความสำเร็จตามแผนงานที่วางไว้