ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภานโยบาย ฯ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของการส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐและเอกชนในธุรกิจนวัตกรรม โดยกลไก “ Holding Company” เพื่อต่อยอดงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างรายได้และการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในระบบวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยผู้สร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมจะได้รับรายได้กลับคืนมาเข้าสู่หน่วยงานสำหรับสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมได้ต่อไป รวมถึงนักวิจัยจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ซึ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการสร้างนวัตกรรมเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้การร่วมลงทุนระหว่างมหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัยและภาคเอกชนในธุรกิจนวัตกรรมโดยกลไก Holding Company เป็นรูปแบบที่หน่วยงานของรัฐและมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศนำมาใช้เพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูง โดยการจัดตั้งและการดำเนินงานของ Holding Company มีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกออกมาจากหน่วยงานวิจัยของรัฐหรือมหาวิทยาลัยโดยมีการบริหารงานแบบมืออาชีพ เป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนของหน่วยงานของรัฐและมหาวิทยาลัย และมีความคล่องตัวสูงเหมาะกับการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างให้เกิดแรงจูงใจแก่นักวิจัยให้เห็นถึงช่องทางในการสร้างธุรกิจนวัตกรรมจากผลงานวิจัยที่คิดค้นทำให้เกิดการพัฒนาผลงานวิจัยที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ และส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจทั้งในระดับหน่วยงานและในระดับประเทศได้
“ข้อจำกัดของการร่วมลงทุนของสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัยกับภาคเอกชน ผ่านกลไก Holding Company ของไทยคือ ยังขาดความเข้าใจเรื่องการจัดตั้งและสถานภาพของ Holding Company ขาดความชำนาญและความสามารถในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมของบุคลากรมืออาชีพ ขาดแรงจูงใจของนักวิจัยในการ Spin-off รวมถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณที่มีจำกัดในการลงทุน หรือมีงบประมาณแต่ยังขาดกลไกหรือมีข้อจำกัดทางกฎระเบียบภายในในการร่วมลงทุน สอวช. จึงได้มีการหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งและได้จัดทำหลักการของชุดมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐและเอกชนโดยกลไก Holding Company ขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันถึงอำนาจหน้าที่ การบังคับใช้กฎหมายในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการร่วมลงทุน การส่งเสริมการสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านธุรกิจนวัตกรรมมืออาชีพ ตลอดจนมาตรการสร้างแรงจูงใจให้นักวิจัย บุคลากรในมหาวิทยาลัยออกไปดำเนินธุรกิจนวัตกรรม เช่น ให้สิทธิกลับมาดำรงตำแหน่งในหน่วยงานเดิมได้หากธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ และการส่งเสริมด้านเงินทุนเพื่อไปร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม เป็นต้น ซึ่งข้อเสนอมาตรการข้างต้นนี้จะช่วยให้มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว ผู้บริหารหน่วยงานสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใส ซึ่งจะส่งผลให้การร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเกิดประสิทธิผล และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชนที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่า และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้” ดร. กิติพงค์ กล่าว