กฟผ.มุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก ชูพลังงานสะอาด และเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าในเวทีผู้นำ ‘CAL Forum’ กฟผ. เผยนโยบายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ ร่วมเดินหน้าลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนในภาคธุรกิจพลังงาน มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในงานแถลงผลสำเร็จโครงการ Climate Action Leaders Forum รุ่นที่ 1
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเสนอภาพรวมการดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในงานแถลงข่าวผลสำเร็จของโครงการ Climate Action Leaders Forum หรือ CAL Forum รุ่นที่ 1 ซึ่งจัดโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ United Nations Development Programme โดยมีนายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานแถลงข่าวฯ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานกรรมการ TGO ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ TGO และผู้บริหารจาก 5 องค์กรชั้นนำของประเทศ ได้แก่ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จํากัด, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน), โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย ณ สโมสรราชพฤกษ์ โครงการนอร์ธ ปาร์ค กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา
นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การต่อสู้กับ Climate Crisis ต้องอาศัยความร่วมมือ ความพยายาม และความมุ่งมั่นของประชาคมโลก สำหรับประเทศไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความมุ่งมั่นประกาศเจตนารมณ์ในที่ประชุมสมัชชารัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร ถึงยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2065 ในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนทุกองคาพยพร่วมกันผลักดันในทุกมิติ
นายประเสริฐศักดิ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกมาโดยตลอด นับตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน กฟผ. สามารถลดก๊าซเรือนกระจกในระดับมาตรการจากการดำเนินงานได้มากกว่า 42 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดย กฟผ. ได้เดินหน้านโยบายมุ่งสู่ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อตอบสนองนโยบายของประเทศ ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานเพิ่มเสถียรภาพการผลิตไฟฟ้า ศึกษาเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอนมาใช้กับโรงไฟฟ้า และพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะเพื่อเพิ่มความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ นอกจากนี้ยังได้บูรณาการงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมตามกรอบแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับพันธมิตร ดำเนินโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ ภายในปี 2574 เพื่อเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถดูดซับคาร์บอนฯ ได้ถึง 1.2 ล้านตันต่อปี
สำหรับ “เวทีระดับผู้นำ” โครงการ CAL Forum รุ่นที่ 1 นี้ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2564 เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้นำระดับประเทศ ประมาณ 50 คน ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา สื่อมวลชน องค์กรอิสระ และองค์กรระหว่างประเทศ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด ประสบการณ์ การมีส่วนร่วมในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality