หัวเว่ยเผยปี 64 ทำกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์และยังคงลงทุนในด้านนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา 22.4% ของรายได้ทั้งหมดซึ่งสูงที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมารวมถึงถือครองสิทธิบัตร มากกว่า 110,000 ฉบับ
มร. อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ยเผยปี 64 ทำกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์และยังคงลงทุนในด้านนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา 22.4% ของรายได้ทั้งหมดซึ่งสูงที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมารวมถึงถือครองสิทธิบัตร มากกว่า 110,000 ฉบับ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากรายงานประจำปีของหัวเว่ย ประจำปี พ.ศ. 2564 ที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินและประธานกรรมการบริหารแบบหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ยได้มีการเปิดเผยถึงผลการดำเนินงานและกลยุทธ์ด้านธุรกิจในอนาคตว่า แม้จะมีความกดดันจากปัจจัยภายนอก แต่หัวเว่ยก็ทำกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สถานะทางการเงินของบริษัทมีเสถียรภาพ สามารถลงทุนเพื่ออนาคตและรับมือกับความผันผวนได้อย่างมั่นคง กระแสเงินสดของหัวเว่ยเพิ่มขึ้น 75.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ผลกำไรจากธุรกิจหลัก เติบโตขึ้น ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและรับความผันผวนทางธุรกิจได้
นอกจากนี้ หัวเว่ยยังคงลงทุนในด้านนวัตกรรมและการวิจัยและพัฒนา และในปี พ.ศ. 2564 การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาคิดเป็น 22.4% ของรายได้ทั้งหมดของหัวเว่ย ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2564 หัวเว่ยได้อันดับที่สองของการจัดอันดับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป และภายในสิ้นปี พ.ศ. 2564 หัวเว่ยถือครองสิทธิบัตรอยู่มากกว่า 110,000 ฉบับ ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในผลงานที่มากที่สุดในระดับโลก
“ในอนาคตข้างหน้านี้ หัวเว่ยได้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสร้างสังคมความเป็นกลางทางคาร์บอนโดยการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจและลงทุนอย่างต่อเนื่องในด้านการวิจัยและพัฒนา สนับสนุนการแบ่งปันข้อมูลจากทั่วทุกมุมโลก เพิ่มความเปิดกว้างทางความคิด ต่อยอดนวัตกรรม และสร้างสรรค์ความคิดใหม่ ๆ จากทั่วโลก เรามุ่งปรับปรุงทฤษฎีพื้นฐาน สถาปัตยกรรม และซอฟต์แวร์เพื่อรองรับการแข่งขันในระยะกลางและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาวพร้อมกัน”
มร. อาเบล เติ้ง กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาธุรกิจของหัวเว่ย ประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมาและกลยุทธ์การลงทุนในอนาคตประเทศไทยถือเป็นตลาดสำคัญของหัวเว่ย และเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุด ตลอด 23 ปี นับตั้งแต่การก่อตั้งหัวเว่ย ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2542 เราได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ลูกค้าและพันธมิตร และมีโอกาสร่วมพัฒนา 2G, 3G, 4G และ 5G ในประเทศไทย และภายใต้พันธกิจ “เติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย และร่วมสนับสนุนประเทศไทย” เรามุ่งมั่นเป็นพันธมิตรชั้นนำด้านไอซีทีที่ได้รับความไว้วางใจ เป็นผู้นำเชิงรุกด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และตอบแทนสิ่งดี ๆ สู่สังคมอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้หัวเว่ยได้รับการสนับสนุนและความไว้วางใจจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยหัวเว่ยเป็นผู้จำหน่ายชิ้นส่วนอันดับ 1 ในตลาดผู้ให้บริการ 5G ของประเทศไทย และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการเปิดใช้สถานีฐาน 5G มากกว่า 20,000 แห่ง จำนวนประชากรที่เข้าถึง 5G ครอบคลุมสูงถึง 70% และมีผู้ใช้ 5G ถึง 4.3 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้ใช้ในประเทศอาเซียนอื่น ๆ ถึง 2.5 เท่า อัตราการเข้าถึงเทอร์มินัล 5G และการรับส่งข้อมูล 5G เพิ่มเป็น 10% นอกเหนือจากงานโครงสร้างพื้นฐาน หัวเว่ยทำงานร่วมกับรัฐบาลและลูกค้าเพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านการแพทย์ 5G, ท่าเรือ 5G, และการเกษตร 5G ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด นับเป็นการวางรากฐานสำหรับการขยายตัวในอนาคต และในพื้นที่ที่ไม่ใช่ 5G จำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 1.67 ล้านคนในปี พ.ศ. 2564 อัตราการเข้าถึงเพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 60.4% ถือว่าเป็นเครือข่ายที่มั่นคงสำหรับการทำงานและการใช้ชีวิตของผู้คนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
มร. อาเบล เติ้ง กล่าวต่อว่า ในอนาคตหัวเว่ยวางแผนปรับใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจ ด้วยการลงทุนในประเทศไทย 4 ด้านหลักด้วยกัน ประการที่ 1 เติมเต็มการใช้งาน 5G ด้วยการเชื่อมต่อที่แพร่หลาย ประการที่ 2 สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลบนคลาวด์ ประการที่ 3 กระตุ้นการเปลี่ยนผ่านสู่วิถีชีวิตคาร์บอนต่ำด้วยดิจิทัล พาวเวอร์ และประการที่ 4 เสริมศักยภาพผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลและพัฒนาอีโคซิสเต็มด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
สำหรับประการแรก 5G กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีไอซีที และการคาดการณ์ร่วมกันของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ONDE), Time Consulting และหัวเว่ยว่า ภายในปี พ.ศ. 2578 มูลค่าเศรษฐกิจที่รองรับเทคโนโลยี 5G จะสูงถึง 2.3 ล้านล้านบาท คาดการณ์โดยประมาณคิดเป็น 10% ของมูลค่าจีดีพีทั้งหมด หัวเว่ยจึงวางแผนขยายการใช้งาน 5G ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และในปี พ.ศ. 2565 หัวเว่ยหวังว่า 5G จะครอบคลุม 70% ของจำนวนประชากร และอัตราการเข้าถึง 5G จะเพิ่มเป็น 20% จาก 10% ในปัจจุบัน
และในปี พ.ศ. 2565 หัวเว่ยจะเปิดตัวโรงพยาบาล 5G, รถพยาบาล 5G, และโซลูชัน AI ในโรงพยาบาล 20 แห่ง นอกจากนี้ จะสร้างมาตรฐานใหม่ 3 ด้านในเมือง 5G (5G City) เพื่อรองรับการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทย สอดรับกับนโยบายดิจิทัลของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) วางแผนติดตั้ง 5G ในโรงงาน 100 แห่งใน EEC รวมถึงโรงงานประกอบรถยนต์ 5G
ประการที่สอง ตามรายงานของ Deloitte อัตราส่วนการใช้งานคลาวด์เป็นดัชนีชี้วัดสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล จากปี พ.ศ. 2564 ถึงปี พ.ศ. 2565 การเติบโตด้านการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ของบริษัทในไทยเพิ่มจาก 59% เป็น 78% และหัวเว่ยภูมิใจที่ หัวเว่ย คลาวด์ เป็นผู้ให้บริการคลาวด์เพียงรายเดียวในประเทศไทยที่มีศูนย์เก็บข้อมูลในพื้นที่ถึง 3 แห่ง และการเปิดตัวศูนย์เก็บข้อมูลแห่งที่สาม Available Zone (AZ) ในเดือนนี้ ก็พร้อมพิสูจน์ความมุ่งมั่นของหัวเว่ยในการให้บริการที่น่าเชื่อถือแก่ลูกค้าต่อไป ในปี พ.ศ. 2565 หัวเว่ย คลาวด์ วางแผนเปิดตัวบริการด้านซอฟต์แวร์คลาวด์ (SaaS) ใหม่กว่า 80 รายการ เพื่อสนับสนุนธนาคาร, SMEs, และผู้ให้บริการเนื้อหา Over-the-top (OTT) ในการนำระบบคลาวด์มาใช้เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล
เมื่อเร็ว ๆ นี้ หัวเว่ยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับกระทรวงดิจิทัล เพื่อต่อยอดความร่วมมือด้านคลาวด์และสนับสนุนความก้าวหน้าของเศรษฐกิจและสังคมไทย และยังคงสนับสนุนบริการคลาวด์สำหรับภาครัฐ (Government Cloud Service) และยกระดับความปลอดภัยของข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ในปีพ.ศ. 2565 หัวเว่ยวางแผนจัดการประชุมสุดยอด “Huawei Cloud and Connect” ร่วมกับผู้นำในอุตสาหกรรมกว่า 4,000 รายเพื่อรับฟังข้อมูลเชิงลึกที่จะช่วยสร้างสรรค์และจุดประกายทางความคิดร่วมกัน
ประการที่สาม หัวเว่ยมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล พาวเวอร์ อย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นการปรับเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัลในด้านพลังงาน ในทศวรรษหน้า ความเปลี่ยนแปลงความต้องการด้านพลังงานของประเทศไทยจะทำให้จีดีพีเติบโตขึ้นประมาณ 1% และปี พ.ศ. 2565 ก็นับเป็นปีสำคัญ เพราะเป็นปีเริ่มต้นของการประกาศแผนงานความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี พ.ศ. 2593 ของประเทศไทย หัวเว่ยให้คำมั่นที่จะสนับสนุนประเทศไทยให้เป็นผู้นำนโยบายคาร์บอนต่ำในภูมิภาคอาเซียน และมั่นใจว่าจะบรรลุเป้าหมายนี้ด้วยผลิตภัณฑ์และโซลูชันดิจิทัล พาวเวอร์ของหัวเว่ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปีในอุตสาหกรรมพลังงาน พนักงานด้านวิจัยและพัฒนาเฉพาะด้านกว่า 6,000 คน รวมถึงการจัดสรรเงินทุน 20% จากรายได้ทั้งหมดในปีที่ผ่านมา สำหรับด้านการวิจัยและพัฒนา
และในปี พ.ศ. 2564 เราได้จัดตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสำหรับธุรกิจดิจิทัล พาวเวอร์ขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ในปีพ.ศ. 2565 ธุรกิจ ดิจิทัล พาวเวอร์ ของหัวเว่ย จะเปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ในประเทศไทย เช่น ผลิตภัณฑ์อินเวอร์เตอร์ไฟฟ้าพร้อมโซลาร์เซลล์อัจฉริยะรุ่นใหม่ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น และในช่วงครึ่งปีหลัง เราวางแผนเปิดตัวแท่นชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับและแท่นชาร์จไฟฟ้ากระแสตรงประสิทธิภาพสูงสำหรับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
ส่วนประการสุดท้าย สิ่งที่เป็นรากฐานของการสร้างสรรค์นวัตกรรมคือการพัฒนาอีโคซิสเต็มด้านนวัตกรรมและการพัฒนาศักยภาพผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลรุ่นใหม่ ซึ่งในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีธุรกิจยูนิคอร์นใหม่ 2 แห่ง ซึ่งต่างมีมูลค่าบริษัทรวม 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หัวเว่ยในฐานะผู้นำเชิงรุกในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลที่มุ่งตอบแทนสังคม
“เรามุ่งมั่นลงทุนอย่างต่อเนื่องในศูนย์เรียนรู้อีโคซิสเต็มเชิงนวัตกรรม 5G (5G Ecosystem Innovation Center) เพิ่มจำนวนพันธมิตรจาก 70 รายเป็น 120 รายในปีนี้ การพัฒนาเครือข่ายพันธมิตรของหัวเว่ย คลาวด์จะเติบโตอย่างรวดเร็วและคาดว่าจำนวนพันธมิตรจะเพิ่มขึ้นจาก 300 เป็น 500 ราย หัวเว่ยมุ่งสานต่อโครงการ Huawei Cloud Spark อย่างต่อเนื่องสำหรับนักพัฒนาโปรแกรมและสตาร์ทอัพในประเทศไทย ช่วยเสริมศักยภาพนักพัฒนาโปรแกรมมากกว่า 2,000 รายและสตาร์ทอัพจำนวน 300 รายต่อเนื่องทุกปี สำหรับการสร้างผู้เชี่ยวชาญทางดิจิทัลรุ่นใหม่ เรามุ่งขยาย Huawei ASEAN Academy, Seeds for the Future Program ซึ่งเป็นโครงการฝึกอบรมร่วมกับมหาวิทยาลัย 23 แห่ง เพื่อปลูกฝังการเรียนรู้ให้กับบุคลากรผู้มีความสามารถด้านดิจิทัลถึง 20,000 คนในปี พ.ศ. 2565”