วว. ตั้งศูนย์วิเคราะห์ ทดสอบอาหารฟังก์ชั่นครบวงจร ครอบคลุม 13 สาขาตามมาตรฐานสากล ตอบโจทย์ผู้ประกอบการไทยรองรับการขอขึ้นทะเบียนกับ อย.พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า วว. ได้จัดตั้ง “ศูนย์บริการ วิเคราะห์ ทดสอบ ด้านอาหารฟังก์ชั่น” เพื่อรองรับการขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของผู้ประกอบการ ซึ่งการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชั่นให้สามารถขึ้นทะเบียน อย. ได้นั้น ต้องปฏิบัติตาม Guideline ต่างๆที่ อย.กำหนด เช่น ผลิตภัณฑ์นั้นต้องมีความปลอดภัย หรือผ่านการทดสอบความเป็นพิษและประเมินความปลอดภัยแล้ว หรือหากต้องการการกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health claim) ก็ต้องมีการพิสูจน์ฤทธิ์ต่างๆ ทั้งในระดับหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง ตลอดจนมีการควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบไปจนถึงผลิตภัณฑ์ โดย ศูนย์บริการฯ ของ วว. พร้อมให้บริการและสามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้ครอบคลุมตามมาตรฐานสากล
“ ปัจจุบันผู้บริโภคมีความตระหนักและมีแนวโน้มใส่ใจในการดูแลสุขภาพมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากมูลค่าส่วนแบ่งการตลาดของอาหารสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น และแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของโลกที่มุ่งไปสู่ “อาหารเพื่อสุขภาพ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเภทอาหารฟังก์ชั่น (Functional Foods)” ซึ่งมูลค่าตลาดของ Functional Foods ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกำลังแซงหน้าอาหารเพื่อสุขภาพในกลุ่มอื่นๆ การจัดตั้ง “ศูนย์บริการ วิเคราะห์ ทดสอบ ด้านอาหารฟังก์ชั่น” เป็นการดำเนินงานในมิติเชิงรุกของ วว. ที่สามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการ โดยเรามีทีมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา มีเครื่องมือที่ทันสมัย และเรามีศักยภาพ มีความมุ่งมั่นที่จะให้บริการวิจัยและพัฒนา ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบต่างๆ ด้านอาหารฟังก์ชั่นอย่างครบวงจร ”
ปัจจุบัน วว. มีศักยภาพในการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบต่างๆ ด้านอาหารฟังก์ชั่นอย่างครบวงจร คือ 1.การทดสอบฤทธิ์ต่างๆ ทางชีวภาพเบื้องต้นของสารสกัด/ผลิตภัณฑ์ เช่น ทดสอบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระ ทดสอบฤทธิ์ต้านเอนไซม์อะซิติลโคลีนเอสเตอเรส และทดสอบฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไลเปส 2.การวัดปริมาณสารสำคัญต่างๆ เช่น ปริมาณสารประกอบฟินอลิครวม ปริมาณแอนโธไซยานิน ฟลาโวนอยด์รวม และเบต้าแคโรทีนรวม 3. การทดสอบคุณสมบัติทางด้านเภสัชจลนศาสตร์ของสารต่างๆ 4.การทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัด/ผลิตภัณฑ์ (Pharmacological Testing) ในหลอดทดลอง 5.ทดสอบฤทธิ์ทางด้านเภสัชวิทยาต่างๆ ในสัตว์ทดลอง เช่น การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบ การทดสอบฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด การทดสอบฤทธิ์เพิ่มภูมิต้านทาน และการทดสอบฤทธิ์ลดไขมันในเลือด
6.ทดสอบคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ ทางด้านการเป็น Prebiotics และ Probiotics 7.วิเคราะห์คุณภาพด้านกายภาพและเคมีของผลิตภัณฑ์ 8.ประเมินคุณภาพด้านประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์ 9.ประเมินอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์ 10.ทดสอบด้านพิษวิทยาและการประเมินความปลอดภัยของสารสกัด/ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันทางปากในหนูทดลอง และการทดสอบความเป็นพิษกึ่งเรื้อรังทางปากในหนูทดลอง
11.ทดสอบความปลอดภัยในอาหาร (Food Safety Testing) จากสารปนเปื้อนหรือสารตกค้างในอาหาร เช่น การทดสอบหาปริมาณยาปฏิชีวนะ การทดสอบหาปริมาณเมลามีนและสารอนุพันธุ์ และการทดสอบหาปริมาณสารเร่งเนื้อแดง 12.วิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ และ 13.วิเคราะห์เพื่อหาส่วนประกอบของอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มประเภทต่างๆ