สทน.จัดงานครบรอบ16 ปี มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ตอบโจทย์ปัญหาประเทศ ตั้งเป้า เป็นสถาบันชั้นนำทางด้านการวิจัย มีการสร้างนวัตกรรมและบริการ เพืิ่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและก้าวขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในอาเซียน
เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 ที่ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) จัดงานครบรอบ 16 ปี วันสถาปนาสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ขึ้น โดย สทน. (Thailand Institute of Nuclear Technology : TINT) ก่อตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา การจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2549 มีภารกิจหลัก นอกเหนือจากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์แล้ว ยังให้บริการ เผยแพร่ และการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฺมาประยุกต์ใช้พัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ
รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. เปิดเผยว่า สทน.ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเป็นองค์ประธาน ในงานครบรอบ 16 ปี วันสถาปนาสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “วันดีดี กับเทคโนโลยีนิวเคลียร์” One fine day with nuclear technology (Better solutions for the bright future) และพระราชทานรางวัลให้แก่ผู้ให้การสนับสนุนการใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยีนิวเคลียร์ จำนวน 8 รางวัล ได้แก่ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านอุตสาหกรรมการผลิต ด้านอุตสาหกรรมอาหาร ด้านอุตสาหกรรมอัญมณี ด้านการเกษตร ด้านการศึกษา ด้านให้การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่ออนาคต ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และรางวัลผู้มีคุโณปการที่ให้การสนับสนุนสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ
ภายในงานดังกล่าว มีการนำเสนอนิทรรศการ ผลงานด้านวิชาการ การวิจัยและพัฒนาด้านต่างๆ ที่นำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศ ทั้งเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ลดการนำเข้า การพัฒนาทางด้านสังคม และการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดยนำเสนอในรูปแบบนิทรรศการ 6 ด้าน คือ 1.นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ กับพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ของประเทศ 2.นิทรรศการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในงานโบราณคดี 3. นิทรรศการด้านงานวิศวกรรมของ สทน. เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข 4. นิทรรศการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ 5. นิทรรศการ “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” พลังงานสะอาดแห่งอนาคตเพื่อคนไทย และ 6. นิทรรศการอาหารพืื้นถิ่นไทย พัฒนาได้ด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์
ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวว่า 16 ปีที่ผ่านมา สทน.มีการดำเนินการด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะผลักดัน สทน.ให้เป็นหน่วยงานที่มีความแข็งแกร่งในการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ซึ่งในปี พ.ศ.2564-2567 ทาง สทน. ได้มีวิสัยทัศน์ว่า จะเป็นสถาบันชั้นนำทางด้านการวิจัย มีการสร้างนวัตกรรมและบริการด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ไปประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ และขับเคลื่อนให้ สทน.ก้าวขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในอาเซียน
ทั้งนี้ได้มีการกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ สทน. 4 ปี ( พ.ศ. 2564 – 2567) เพื่อขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ คือ กลยุทธ์ที่ 1 การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และการยกระดับสังคมเชิงบูรณาการ โดยมีเป้าหมาย ส่งเสริมและขยายการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อแก้ปัญหา และตอบสนองความต้องการในทุกภาคส่วน โดยการบูรณาการกับเครือข่ายที่มีศักยภาพ
กลยุทธ์ที่ 2 การวิจัยและการพัฒนาเชิงบูรณาการกับเครือข่ายที่มีศักยภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์โดยอาศัยความร่วมมือ และมุ่งสู่การนำไปใช้ประโยชน์แบบบูรณาการกับเครือข่ายที่มีศักยภาพ และการพึ่งพาตนเองในอนาคต
กลยุทธ์ที่ 3 เป็นผู้นำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในอาเซียน เป้าหมายเพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำ ทางวิชาการ และเป็นที่ยอมรับ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในอาเซียน
และกลยุทธ์ที่ 4 การพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืน เป้าหมายเพื่อพัฒนาการทำงานและสร้างความสามารถในการแข่งขันขององค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนรักษาและพัฒนาสมรรถนะขององค์กรด้วยบุคลากรคุณภาพสูง
โดยจะมีการดำเนินงานผ่านกิจกรรมสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ข้างต้น ดังนี้
1. โครงการพัฒนาอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี เพื่อสร้างนวัตกรรมการฉายรังสี สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้านไทย ยกระดับสินค้าเพื่อให้สะอาด ปลอดภัยและมีมาตรฐาน สามารถเป็นช่องทาง การจัดจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการได้
2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเครื่องมือทางนิวเคลียร์ โดยเครื่องไซโคลตรอน เพื่อการพัฒนาทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์ทางรังสี ลดการนำเข้าเภสัชรังสี ได้ปีละราว 800 ล้านบาท การพัฒนาเครื่องโทคาแมค (Tokamak) เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันและพลาสมา การพัฒนาเครื่องเอกซเรย์ในอุตสาหกรรมเพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
3. การพัฒนาการให้บริการ และขยายการบริการสู่ตลาดต่างประเทศ โดยการตรวจสอบหอกลั่นใต้น้ำ เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การผลิตและจำหน่ายเภสัชรังสีให้กับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว พม่า กัมพูชา
4. การเป็นผู้นำทางวิชาการและในระดับนานาชาติ ผ่านโครงการ TINT2U การสนับสนุนทุนวิจัยให้กับนักวิจัยจากหน่วยงานและมหาวิทยาลัยต่างๆที่ร่วมทำวิจัยกับ สทน. รวมทั้งร่วมผลิตผลงานวิจัยกับผู้ใช้ประโยชน์จริง เช่น โครงการพัฒนาระบบการฉายรังสีน้ำยาง การฉายรังสีน้ำยางธรรมชาติที่ผสมกับสารเคมี เพื่อให้มีการจับตัวกันของพอลิเมอร์เป็นแผ่นยาง การปรับปรุงพันธ์กัญชง กัญชาเพื่อการพัฒนาทางการแพทย์
5. โครงการสำคัญที่จะสนับสนุนให้ผู้ใช้ประโยชน์ เกิดความสะดวกสบายในการเข้าถึงบริการ และสร้างความเข้าใจด้านนิวเคลียร์ ทั้ง Digital Transformation การสื่อสารครบวงจรเพื่อการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์
อย่างไรก็ดี ภายในงานดังกล่าว ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเครือข่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้านพลาสมา และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน รวม 24 หน่วยงาน คือ สทน. สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันแทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
บันทึกความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายรวม 24 หน่วยงานดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือทางวิชาการด้านการวิจัยและพัฒนาพลาสมา เทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันและห้องปฏิบัติการขั้นสูงรวมทั้งเตรียมความพร้อมของบุคลากรเพื่อรองรับเทคโนโลยีด้านพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน
การจัดตั้งเครือข่ายการวิจัยนี้จะเป็นกลไกการทํางานร่วมกันและใช้ทรัพยากรด้านการวิจัยและพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันจะเพิ่มขีดความสามารถของการศึกษาและวิจัยทางด้านพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันของประเทศ และนําไปสู่การสร้างนวัตกรรมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยมุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาด้านพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันในอาเซียนภายใน 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2570)