เนคเทค จับมือ มทร. อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มุ่งพัฒนาบุคลากรและคู่มือประกอบการสอนด้านการทดสอบซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐานและขั้นสูง
เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จัดพิธีลงนามความร่วมมือพัฒนาบุคลากรและคู่มือประกอบการสอน ด้านการทดสอบซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐานและขั้นสูง (2565-2567) ขึ้น ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว เนคเทค สวทช. โดย ห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ (SQUAT) ได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการออนไลน์ Train the Trainer : การทดสอบซอฟต์แวร์ ขั้นพื้นฐาน ให้กับอาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของ มทร. อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ซึ่งเป็นสถาบันนำร่อง ให้ได้ความรู้ในด้านการทดสอบซอฟต์แวร์ระดับสากล สำหรับระดับพื้นฐาน และระดับสูง เพื่อพัฒนาศักยภาพการทดสอบซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ตลอดจนยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า เนคเทค มีวิสัยทัศน์ ในการสร้างฐานรากสำคัญด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และสารสนเทศขั้นสูงของประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดระบบนิเวศน์ของการใช้งานเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศขั้นสูง ผ่านโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติและเครือข่ายพันธมิตรภาคการศึกษา และภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่มาตรฐานระดับสากล เนคเทคจึงจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ (SQUAT) ขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม โดยได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)
“การทดสอบซอฟต์แวร์ (Software Testing) เป็นหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญในกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ นั่นคือการตรวจสอบและตรวจทานว่าซอฟต์แวร์ที่ส่งมอบนั้น มีความถูกต้อง สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพตามที่ผู้ใช้งานคาดหวังไว้ และทำให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์มีความปลอดภัยและมีฟังก์ชันการทำงานตรงตามที่ออกแบบคุณลักษณะไว้ รวมทั้งเป็นไปตามมาตรฐานสากล เนคเทคจึงเปิดให้บริการทดสอบซอฟต์แวร์ใน 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ 1. ระบบซอฟต์แวร์ 2. ระบบเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ 3. ซอฟต์แวร์ทางการแพทย์ และ 4. ระบบ Internet of Things และการให้บริการเครื่องมือ Hardware in the loop เพื่อใช้ในการทดสอบโดยการจำลองยานยนต์และสภาพแวดล้อมแบบเรียลไทม์สำหรับการตรวจทาน (validating) ชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical control unit – ECU) เป็นต้น “
ทั้งนี้ในปี 2562 เนคเทคได้นำร่อง จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “การทดสอบซอฟต์แวร์ระดับสากล สำหรับระดับพื้นฐาน รุ่นที่ 1 (Software Testing Boot Camp: Foundation Level)” เพื่อเพิ่มความรู้ ความเข้าใจ พัฒนาทักษะ เพิ่มขีดความสามารถให้แก่กลุ่มวิศวกรทดสอบซอฟต์แวร์ให้ได้ตามหลักมาตรฐานสากล (ISTQB) โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมการอบรมกว่า 40 คน ผ่านการอบรม การบรรยายให้ความรู้ Exercise และ Workshop ในหัวข้อต่าง ๆ รวมทั้งจำลองการสอบเสมือนจริงหลังการอบรม และมีผู้ไปสอบ ISTQB-CTFL ผ่าน จำนวน 3 คน ซึ่งทำให้ได้รับการปรับตำแหน่งและขึ้นเงินเดือน อีกทั้งผู้เข้าอบรมยังได้นำความรู้ที่ได้ ไปประยุกต์ใช้ในงานทดสอบซอฟต์แวร์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานซอฟต์แวร์อีกทางหนึ่ง โดยปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมยังมีความต้องการบุคลากรทางด้าน Software Testing เป็นจำนวนมาก
ดร.ชัย กล่าวว่า สำหรับปี 2565 นี้ เนคเทค สวทช. ได้ขยายผลการดำเนินงานโครงการไปยังพื้นที่สถาบันการศึกษา โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เป็นสถาบันนำร่อง เพื่อสร้างเครือข่ายสถาบันการศึกษาและร่วมกันพัฒนาคู่มือประกอบการสอนการทดสอบซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐานและขั้นสูง
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์อาดา รัยมธุรพงษ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า ปัจจุบันระบบซอฟต์แวร์เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานวิจัยต่างๆ และมีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกหน่วยงาน ซึ่งงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบซอฟต์แวร์จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงต่อครั้งในการทดสอบ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เห็นถึงความสำคัญ และโอกาสที่จะหาเครือข่ายและสร้างความร่วมมือในด้านนี้ จึงเกิดเป็นโครงการความร่วมมือพัฒนาบุคลากรและคู่มือประกอบการสอนด้านการทดสอบซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐานและขั้นสูง (2565-2567) ขึ้น โดยที่ผ่านมา มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มีความร่วมมือกับเนคเทค สวทช. ใน โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ Train the Trainer : การทดสอบซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งอบรมเมื่อวันที่ 30-31 มีนาคม 2565 ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับการอบรม คืออาจารย์ จำนวน 32 คน เพื่อสร้างเครือข่ายสถาบันการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดคู่มือประกอบการสอนการทดสอบซอฟต์แวร์พื้นฐานและขั้นสูงเป็นสื่อการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดความตระหนักในการทดสอบซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานระดับชาติและนานาชาติของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสร้างเครือข่ายสถาบันการศึกษา และขยายความร่วมมือด้านการทดสอบซอฟต์แวร์ในอนาคตต่อไป