อว.เผยองค์การอนามัยโลกเตรียมใช้ไทยเป็นต้นแบบประเทศที่3 ในการนำร่องกิจกรรมทบทวนการเตรียมความพร้อม กรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้าในการรับมือการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19
เมื่อวันที่ 25 เม.ย.65 ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.ซามิรา แอสมา (Dr. Samira Asma) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำสำนักงานใหญ่ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงขององค์การอนามัยโลก เดินทางเข้าพบ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. พร้อมด้วย ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และผู้บริหารระดับสูงของ อว. ภายใต้โครงการนำร่องกลไกทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health and Preparedness Review : UHPR) ขององค์การอนามัยโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติงานที่ดี ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคในด้านเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุข กรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า
ดร.ซามิรา กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบประเทศที่ 3 ที่องค์การอนามัยโลก ได้นำร่องจัดกิจกรรมทบทวนการเตรียมความพร้อม กรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้าในการรับมือการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ซึ่งองค์การอนามัยโลกจะได้เผยแพร่ประสบการณ์สู่สาธารณะ ในการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การอนามัยโลก เพื่อเป็นประโยชน์จากประเทศสมาชิก และเกิดการพัฒนาเครื่องมือและกลไกใหม่รองรับวิกฤตด้านสาธารณสุขสำหรับใช้งานทั่วโลกในอนาคต
ทั้งนี้หลังการหารือ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ เปิดเผยว่า ดร.ซามิรา ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยโดยเฉพาะความร่วมมือของทุกภาคส่วน หน่วยงานต่างๆและประชาชน และได้รับทราบบทบาทการทำงานของกระทรวง อว.เป็นอย่างดี โดยที่ผ่านมา อว. ได้ทำหน้าที่หลายอย่างตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2562 ทั้งการให้ข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือได้อย่างทันท่วงที นำไปสู่การตัดสินใจปฎิบัติการโดยอาศัยข้อมูลเป็นที่ตั้ง การสนับสนุนการดำเนินงานดูแลรักษาผู้ป่วยโดยโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลสนาม การจัดตั้งหน่วยบริการฉีดวัคซีน และการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมอย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะการติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 การคาดการณ์สถานการณ์โดยใช้ AI ตลอดจนการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งในขณะนี้มีวัคซีนสัญชาติไทยกว่า 4 ชนิด ที่เข้าสู่ขั้นการทดสอบในทางคลินิกแล้ว
นอกจากนี้ อว. โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ยังได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์และการวิจัยและพัฒนา ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกัน อว.โดย สำนักปลัดกระทรวง อว. และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย( TCELS) ยังได้ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภายใต้กระทรวงต่างๆ ที่เป็นภาคีเครือข่ายทำงานร่วมกันในการดำเนินโครงการ Ending Pandemics through Innovation (EPI) เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยเร็วและพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต