“การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” เป็นหนึ่งในโมเดลของการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในปัจจุบันที่มีความรุนแรงมากขึ้น หลายหน่วยงานในหลายประเทศตระหนัก และตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างมาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานสถาบันการศึกษาที่มีหน้าที่ในการผลักดันองค์ความรู้ใหม่ๆ ออกสู่สังคม และมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนนโยบายของประเทศนั้น มีการเตรียมความพร้อมในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศของโลก ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนของ มจธ. และเป็นการมีส่วนร่วมที่สำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 คือ การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของ มจธ. ภายในปี พ.ศ. 2583 (KMUTT Carbon Neutrality 2040) ตามประกาศเจตนารมณ์ของ มจธ. เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
ผลจากการศึกษาและเก็บข้อมูลในภาพทัศน์ที่แตกต่างกันของนโยบายต่าง ๆ ของ มจธ. ต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายใน มจธ. โดยเทียบจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศ และใช้ข้อมูลการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของ มจธ. ในปี พ.ศ. 2562 (ปีฐาน) พบว่า มจธ. ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (เทียบเท่า) 16,720 ตัน จากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งทางตรงทางอ้อมของทั้ง 4 พื้นที่การศึกษา ได้แก่ บางมด บางขุนเทียน ราชบุรี และอาคารเคเอกซ์ (KX) โดยสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดมาจากการใช้ไฟฟ้าหรือเท่ากับ 94% ของการปล่อยทั้งหมด มจธ.
ดังนั้นจึงจัดทำแผนดำเนินการมาตรการหลักในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2583 อันได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (Energy Efficiency) ในอาคารที่มีอยู่ โดยการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้า การพัฒนาอาคารอัจฉริยะที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานจนนำไปสู่อาคารที่ใช้พลังงานเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Buildings) การพัฒนาระบบ District Cooling และการดำเนินโครงการ So Cool เพื่อลดอุณหภูมิภายในมหาวิทยาลัย 1-2 องศาเซลเซียส การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) โดยการติดตั้ง Solar PV บนหลังคาของทุกอาคารที่มีศักยภาพใน มจธ. การเปลี่ยนรถยนต์และรถรับส่งของมหาวิทยาลัยเป็นยานยนต์ไฟฟ้า การจัดทำโครงการ Zero Waste เพื่อลดปริมาณขยะที่ส่งไปกำจัด ผ่านมาตรการลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว และมาตรการ 3R การผลิต Refuse Derived Fuel (RDF) จากขยะ และการประยุกต์แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อลดขยะเป็นศูนย์
ด้วยการดำเนินการมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้คาดว่าในปี พ.ศ. 2583 มจธ. จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 30% ของการปล่อย ณ ปีฐาน ซึ่งเป็นผลจากมาตรการ Energy Efficiency และ Renewable energy เป็นหลัก และนอกจากมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว มจธ. ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์ป่าของ มจธ. ราชบุรี และการปลูกป่าโกงกางพื้นที่มากกว่า 130 ไร่ เพื่อดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อันจะส่งผลให้ มจธ. สามารถบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2583 ตามแผน