อุตสาหกรรมฟาร์มโคนมจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อสตาร์ทอัพไทยพัฒนา “เช็คเมท (CheckMate)” แพลตฟอร์มการตรวจจับภาวะเป็นสัดในปศุสัตว์ด้วยเทคโนโลยีเอไอ และไอโอที และ“ ไฮเปิร์ม (Hyperm)” แพลตฟอร์มเอไอ สำหรับการคัดแยกคุณภาพของตัวอสุจิ สองแพลตฟอร์มที่ดึงเทคโนโลยีขั้นสูง มายกระดับอุตสาหกรรมโคนมไทยอย่างยั่งยืน
ล่าสุดได้รับ “รางวัลชนะเลิศสุดยอดสตาร์ทอัพสายเกษตร (The best Agtech startup)” ในงานประกาศผล โครงการ “Inno4Farmers” ซึ่งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ จัดขึ้นเพื่อเร่งสร้างและยกระดับความสามารถของสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ผ่านกิจกรรมการพัฒนาบ่มเพาะเทคโนโลยีและธุรกิจ โดยร่วมทำ Co-Creation กับบริษัทชั้นนำในภาคเกษตร
นายวรรธนะ พงษ์เสนา ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ออลนิวเจน กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มตรวจจับภาวะเป็นสัดในปศุสัตว์ ที่ช่วยลดเปอร์เซ็นต์การผสมไม่ติดในแม่โคซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของการเลี้ยงโคนมในประเทศไทยเล่าว่าจุดเริ่มต้นของทั้ง 2 แพลตฟอร์มมาจากการที่ได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับเกษตรกรในช่วงที่กำลังศึกษาปริญญาเอก จากนั้นพบเห็นปัญหาโดยจุดแรกที่เป็นในเรื่องของ “น้ำเชื้อ” ต่อมากลับพบอีกปัญหาคือการ “จับสัด” ที่ยังไม่มีความแม่นยำ และต้องมีการติดตามพฤติกรรมของวัวตลอดเวลาว่าจะผสมพันธุ์ในช่วงใด จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้พัฒนาโซลูชั่นแพลตฟอร์มเพื่อแก้ปัญหาทั้งสองขึ้น ผ่านการนำเทคโนโลยีที่มีในมือ ซึ่งนั่นก็คือ เอไอ และแพลตฟอร์มไอโอที โดยทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ทั้ง “เช็คเมท” และ “ไฮเปิร์ม” เป็นสิ่งที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทำฟาร์มได้ง่ายขึ้น สมาร์ทขึ้น เพิ่มกำลังการผลิตน้ำนมดิบและมีรายได้จากการเลี้ยงโคนมเพิ่มมากขึ้น
สำหรับแพลตฟอร์มแรกคือ “เช็คเมท (CheckMate)” วรรธนะ อธิบายว่า เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการตรวจจับพฤติกรรมการเป็นสัดของปศุสัตว์ด้วยการใช้เทคโนโลยี IoT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจจับภาวะการเป็นสัดในปศุสัตว์ สำหรับในโคนม ซึ่งแม่นยำถึง 95 %
แพลตฟอร์มนี้ประกอบด้วยชุดอุปกรณ์ติดที่คอวัว และระบบไอโอที เป็นตัวรับส่งสัญญาณ และนำข้อมูลส่งขึ้นคลาวด์ ซึ่งจะมีฮาร์ดแวร์อีกตัวเป็นปลอกคอที่มีเซ็นเซอร์ ที่จะสามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมของวัวได้ ซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้จะส่งสัญญาณ และมีเอไอ ช่วยวิเคราะห์ว่าสัญญาณใดที่จะบ่งบอกว่าวัวเป็นสัด จากนั้นจะคาดการณ์เวลาที่เหมาะสมที่เกษตรกรสามารถทำการผสมเทียมได้ และส่งข้อมูลแจ้งเตือนไปยังเกษตรกรและหมอผสมเทียมผ่านทางแอปพลิเคชั่นไลน์
“ นำร่องที่แรกในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนม ปัจจุบันไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี เนื่องจากกำลังการผลิตในประเทศไทยถูกจำกัดด้วยคำว่า “การผสมไม่ติด” ซึ่งเกษตรจะต้องผสมเทียมให้วัวตั้งท้องจึงจะมีน้ำนมออกมาจำหน่าย โดยปัจจัยหลัก ๆ ที่มีผลต่อการผสมไม่ติดคือ 1.ความแม่นยำในการจับสัด 2.น้ำเชื้อในการผสมเทียม ซึ่งหากเกษตรกรผสมเทียมไม่ติดจะมีระยะเวลาการรอคอยนานถึง 21 วัน เพื่อการทำอีกครั้ง ทั้งนี้การรอคอยนั้นมีการสูญเสียต้นทุนในด้านต่าง ๆ อาทิ ค่าอาหาร ค่าน้ำเชื้อผสมเทียม และค่าหมอผสม กว่า 3,550 บาท และการสูญเสียโอกาสรายได้จากการผลิตนมกว่า 4,627 บาท รวมแล้วกว่า 8,177 บาทต่อโคนม 1 ตัว ต่อรอบการผสมเทียม 1 ครั้ง”
จากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันเกษตรกรในประเทศไทยจับสัดแม่นยำเพียง 22% และเมื่อทำการผสมเทียมแล้วมีวัวตั้งท้องเพียง 16 %
“มูลค่าตลาดของเช็คเมท มีการตั้งเป้าเจาะตลาดเอเชียที่มีมูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยมีจำนวนโคนมกว่า 7.7 ล้านตัว ซึ่งในประเทศไทยมีมูลค่า 574 ล้านบาทต่อปี มีจำนวนโคนมกว่า 4.4 แสนตัว และส่วนแบ่งทางการตลาดของ Checkmate ภายใน 3 ปี คาดว่าจะอยู่ที่ 36 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 6 % ของโคนมในประเทศไทย จำนวน 26,700 ตัว”
ปัจจุบันเช็คเมทสามารถพัฒนาต้นแบบ ซึ่งทดสอบในฟาร์มจริงแล้ว โดยมีการติดตั้งปลอกคอวัวประมาณ 100 ชิ้น สำหรับฟาร์มในระบบมหาวิทยาลัย พบว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความแม่นยำสูงถึง 95 % ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรที่มีวัวรอจับสัดอยู่ราว 50 ตัว มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนบาท ด้วยเงินลงทุนเพียง 6 หมื่นบาท อนาคตคาดว่าจะขยายสเกลการทดสอบผลิตภัณฑ์อีก 5 ฟาร์ม ภายในเดือน เม.ย 64 โดยจะอยู่ในพื้นที่ละแวกใกล้เคียงอย่าง จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และชัยภูมิ
สำหรับอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์คือ“ไฮเปิร์ม (Hyperm)” จะเป็นนวัตกรรมน้ำเชื้อโคนมแช่แข็งที่ผ่านการคัดคุณภาพพิเศษ โดยใช้อุปกรณ์และซอฟต์แวร์เอไอ เพื่อคัดกรองเอาเฉพาะตัวอสุจิที่มีชีวิต มีการเคลื่อนที่ดีและไม่เป็นอสุจิผิดปกติ นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์น้ำเชื้อโคนมแช่แข็ง ที่จะช่วยลดจำนวนครั้งที่เกษตรกรต้องทำการผสมเทียม
เนื่องจากน้ำเชื้อของเกษตรกรที่ใช้ในการผสมเทียมในประเทศไทยเกษตรกรจะต้องผสมเฉลี่ยมากถึง 3 ครั้ง จึงจะผสมติดทำให้เกิดปัญหาอัตราการปฏิสนธิต่ำกว่า 30 % เกิดความสูญเสียมหาศาล จึงมีการพัฒนาแพลตฟอร์มการตรวจวิเคราะห์คุณภาพสเปิร์ม ขึ้น โดยเป็นโซลูชั่นระดับโลกที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) ซึ่งอยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตรระดับนานาชาติ ส่งผลให้สามารถทำการคัดสเปิร์มที่มีคุณภาพมาผลิตเป็นน้ำเชื้อแช่แข็ง อีกทั้งยังลดจำนวนครั้งการผสมเทียมเหลือเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น
ทั้งนี้ ทางทีมเช็คเมทและไฮเปิร์ม ได้มีโอกาสร่วมงานกับองค์กรชั้นนำอย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ภายใต้โครงการ Inno4farmers ซึ่งได้รับโจทย์ที่จะสเกลอัพได้ โดยได้มีการรวมตัวทีมทำให้เกิดความแข็งแกร่งมากขึ้น และโจทย์ที่ได้รับคือการสเกลอัพไปยังอุตสาหกรรมสุกร จึงต้องมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ผ่านการนำเทคโนโลยีและจุดแข็งของทั้งสองทีมลงพื้นที่เก็บข้อมูลกับฟาร์มเครือข่ายของซีพี ที่เป็นฟาร์มแม่พันธุ์ขนาดใหญ่ มีสุกรแม่พันธุ์ราว 7 พันตัวต่อฟาร์ม และไม่ได้ปล่อยสุกรออกมาให้มีปฏิสัมพันธ์กัน
“จากระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาในการเก็บข้อมูล ทำให้มีข้อมูลเพียงพอที่จะทำการวิเคราะห์ว่าสุกรกลุ่มใดที่จะอยู่ในช่วงจับสัด และสุกรตัวใดที่ไม่จับสัตว์ จากนั้นสเต็ปต่อไปจะเป็นการดีไซน์แพทเทิร์นได้ชัดเจนและตรวจจับได้ว่าสุกรมีอาการเป็นสัด จึงทำให้สามารถมั่นใจได้ว่าสามารถที่จะสเกลอัพไปยังสัตว์เศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ได้ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแพะ แกะ และที่สำคัญที่สุดคืออุตสาหกรรมโคเนื้อที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีมูลค่ามากที่สุดในประเทศไทย” วรรธนะ กล่าว