ฮิลล์ อาเซียน เผยผลวิจัยล่าสุด แนะแบรนด์และผู้ประกอบการธุรกิจปรับกลยุทธ์เจาะตลาด “แฟนด้อม” ชี้เป็นกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่กำลังมาแรงและมีอิทธิพลสูงในแถบอาเซียน
สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน หรือฮิลล์ อาเซียน คลังสมองทางวิชาการซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มฮาคูโฮโด ประเทศญี่ปุ่น แถลงเปิดตัวผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคอาเซียน (ASEAN Sei-katsu-sha) ล่าสุด ในหัวข้อ “เจาะลึกเรื่องแฟนด้อม: ฐานพลังคนกลุ่มใหม่ สู่การขับเคลื่อนสังคมอาเซียน” โดยได้วิเคราะห์ไลฟ์สไตล์ มุมมองความคิด และพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ พร้อมตกผลึกออกมาเป็นแนวทางการต่อยอดทำการตลาดในปี 2565
นางสาววรรณรัตน์ วิศวสุขมงคล รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ฮิลล์ เอเชีย จำกัด กล่าวว่า ฮิลล์ อาเซียน ได้ทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง ติดต่อกันเป็นปีที่ 8 และในปีนี้เองทาง ฮิลล์ อาเซียน ได้เล็งเห็นความสำคัญของคนกลุ่มใหม่ๆ จึงเกิดความสนใจเจาะลึกพฤติกรรมแฟนด้อมในอาเซียนในปัจจุบัน โดยจากผลวิจัยครั้งนี้ ฮิลล์ อาเซียน ได้ให้คำจำกัดความของ “แฟนด้อม” หมายถึง ผู้คนที่มีความหลงใหลชื่นชอบในตัวบุคคลหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นศิลปินไอดอล การ์ตูน กีฬา งานอดิเรกต่างๆ อีกทั้งยังหมายรวมถึง อาณาจักรหรือวัฒนธรรมของกลุ่มของคนคอเดียวกัน ที่มารวมตัวกันด้วยความชอบใดความชอบหนึ่ง ที่ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “Oshi-katsu” ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่กำลังเป็นเทรนด์อยู่ในแดนปลาดิบขณะนี้
สำหรับในอาเซียนก็เช่นเดียวกัน ปัจจุบันผู้คนในภูมิภาคนี้มีการรวมตัวและกลายเป็นสมาชิกกลุ่มแฟนด้อมมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยหลายเหตุผล เช่น “มีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น” ในช่วงโควิด-19 “มีช่องทางที่เอื้อต่อการแชร์ข้อมูลและเข้าถึงสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบมากขึ้น” อันเนื่องมาจากความแพร่หลายของเครือข่ายสังคมออนไลน์ และเว็บไซต์ที่รวบรวมคลิปวิดีโอฟรีให้ทุกคนเข้าถึงได้ รวมถึง “มีวิธีในการแสดงออกถึงความชอบที่หลากหลายมากขึ้น” ช่วยให้คนกลุ่มนี้สามารถสร้างคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอและภาพได้ด้วยตัวเอง
งานวิจัยชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นอีกว่า กลุ่มคนเหล่านี้ไม่เพียงมีความหลงใหลในสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ แต่ยังใช้เวลาแบ่งปันความสุขนี้กับเพื่อนๆ เกิดเป็นพลังด้านบวกที่หล่อเลี้ยงอาณาจักรแฟนด้อมให้เติบโต และคอยช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ ฮิลล์ อาเซียน ได้ทำการสำรวจวิจัยเชิงปริมาณและสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างแฟนด้อมในชาติอาเซียน 6 ประเทศและญี่ปุ่น โดยครอบคลุมเนื้อหาในเรื่องต่างๆ ประกอบด้วย แรงจูงใจที่ทำให้พวกเขามารวมกลุ่มกัน, กิจกรรมภายในกลุ่มแฟนด้อม, ประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมแฟนด้อม รวมไปถึงโครงสร้างและคุณค่าของชุมชนแฟนด้อม
นางสาววรรณรัตน์ วิศวสุขมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เหล่าสมาชิกแฟนด้อมในอาเซียนได้รับจากการรวมกลุ่มกัน ไม่ได้มีแค่ความสนุกสนานเพลิดเพลินหรือเป็นไปเพื่อคลายเครียดจากชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังเป็น “การเติมเต็มคุณค่าในตนเอง” ด้วยการแสวงหาแง่มุมใหม่ๆ ให้กับชีวิต ทำในสิ่งที่ใจปรารถนา และตอกย้ำถึงข้อดีของตนเอง นอกจากนี้ ฮิลล์ อาเซียน ยังพบอีกว่า แฟนด้อมมีความรู้สึกเชื่อมโยงผูกพันกัน เสมือนเป็น “คนในครอบครัว” โดยที่สมาชิกในชุมชนจะคอย “ช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างบริสุทธิ์ใจ” โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
นอกจากนั้นชุมชนแฟนด้อมยังเชื่อมั่นใน “พลังของแฟนคลับ” และรักที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโลก ยิ่งไปว่านั้น สมาชิกแต่ละคนยังมีบทบาทของตัวเองในการส่งเสริมและพัฒนาแฟนด้อมที่ตนเองหลงรัก ทั้งนี้ ชุมชนของเหล่าแฟนด้อมในชาติอาเซียนมีลักษณะเสมือน “สังคมในอุดมคติ” หรือ “ยูโทเปีย” ที่สมาชิกทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ปราศจากการแบ่งชนชั้น เป็นเหมือนฐานที่มั่นของทุกคน ในยุคปัจจุบันที่ชุมชนแฟนด้อมส่วนใหญ่อยู่ในโลกออนไลน์ การสื่อสารระหว่างกันเป็นไปอย่างเปิดกว้างและเสรี ปราศจากข้อจำกัดเรื่องอายุ เพศ เชื้อชาติ หรือสถานะสังคมอย่างแท้จริง
ในทางกลับกัน แรงจูงใจที่ทำให้ผู้คนเหล่านี้เข้าร่วมกลุ่มแฟนด้อมที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ยังสะท้อนให้เห็นว่า พวกเขามีความหวังความปรารถนาที่ไม่อาจสมหวังหรือทำให้สำเร็จได้ในโลกแห่งความเป็นจริง อันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 รวมไปถึงประเด็นทางสังคมมากมายที่ฝังรากลึกมานานในภูมิภาคอาเซียน เช่น ปัญหาการเมือง สิ่งแวดล้อม เพศ สิทธิมนุษยชน ที่คนธรรมดาทั่วไปไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกำลังของตนเอง ด้วยเหตุนี้ อาณาจักรแฟนด้อมในอาเซียนจึงเปรียบเสมือนยูโทเปียที่ทุกคนเสมอภาคกัน และเป็นโลกใบใหม่ที่มอบโอกาสทางเศรษฐกิจและการอยู่รอดให้แก่พวกเขาได้ โดยฮิลล์ อาเซียน ได้เรียกแฟนด้อมที่สามารถดึงดูดใจผู้บริโภคอาเซียนเช่นนี้ว่า “MATTER-VERSE” หรือ “จักรวาลแห่งคุณค่า” ซึ่งหมายถึง ชุมชนในอุดมคติที่ความปรารถนาในด้านต่างๆของทุกคนจะได้รับการเติมเต็ม
การที่ผู้บริโภคอาเซียนเข้าร่วมกลุ่มแฟนด้อมด้วย “ความปรารถนา” นั้น ชี้ให้เห็นว่า ความหวังเหล่านี้มิอาจทำให้สำเร็จได้ในโลกแห่งความเป็นจริง เนื่องจากพวกเขาไม่มีกำลังเพียงพอที่จะเอาชนะปัญหาสังคมที่มีอยู่มากมายได้ด้วยตนเอง แฟนด้อมจึงกลายมาเป็น “ยูโทเปียหรือโลกใบใหม่ที่มอบโอกาสทางเศรษฐกิจและการอยู่รอด” ซึ่งจะช่วยทำให้ความปรารถนาในด้านต่างๆของเหล่าแฟนด้อมเป็นจริงได้
อย่างไรก็ดีเมื่อสอบถามถึงกลุ่มแฟนด้อมที่ชื่นชอบมากที่สุดในตอนนี้ คำตอบที่พบมากที่สุด คือ ฟุตบอล ซีรี่ส์ ยูทูป กลุ่มศิลปินไอดอล K-POP ภาพยนตร์ไซไฟ และแบรนด์เทคโนโลยีต่างๆ ส่วนแฟนด้อม 3 อันดับแรก ที่ผู้คนในแถบอาเซียนคลั่งไคล้มากที่สุดในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ “K-POP” “เกมส์” และ “การทำอาหาร” สำหรับผู้คนในชาติอาเซียนซึ่งปกติมักไม่เข้าครัวเองมากนัก การที่หัวข้อการทำอาหาร สามารถติดอันดับการสำรวจได้จึงเป็นเรื่องแปลกใหม่มาก ส่วนแฟนด้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “อาชีพเสริม” เช่น “การปลูกต้นไม้” เพื่อหารายได้จากงานอดิเรก ก็เป็นอีกกลุ่มที่พบในการสำรวจครั้งนี้เช่นกัน
สำหรับผู้สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับบทวิเคราะห์และแนวทางการทำตลาดเจาะกลุ่มแฟนด้อมอาเซียน สามารถเข้าไปศึกษารายงานฉบับเต็มได้ที่ www.hillasean.com