ค่าใช้จ่ายและบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ถือเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดสำคัญ ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสถานภาพการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ล่าสุดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เปิดเผยถึง “ผลสำรวจค่าใช้จ่ายและบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ของประเทศไทย ปี 2563” ซึ่งมีการเก็บข้อมูลและสำรวจในรอบปี 2564 พบว่า ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนารวมทั้งสิ้น 208,010 ล้านบาท คิดเป็น 1.33 % ของ GDP ของประเทศ และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 7.74 % จากปี 2562 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา ฯ รวม 193,027 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.14 % ของ GDP ของประเทศ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า สัดส่วนการค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา ในปี 2563 มาจากภาคเอกชน 68 % หรือ 141,706 ล้านบาท ส่วนอีก 32 % หรือ 66,304 ล้านบาท มาจากภาครัฐรวมถึงภาคอุดมศึกษา รัฐวิสาหกิจ และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร
จากสัดส่วนดังกล่าวพบว่า การลงทุนของภาคเอกชนในปี 2563 ได้ลดลงจากเดิมในปี 2562 ที่มีสัดส่วนภาคเอกชน : ภาครัฐ 77 : 28 เนื่องจากธุรกิจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่เนื่องจากภาครัฐได้มีการใส่เม็ดเงินลงทุนเข้าไปในระบบเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยในปี 2563 ยังเพิ่มสูงขึ้น
โดยอุตสาหกรรมที่มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาสูงสุด ในปี 2563 อันดับ1 คือ อุตสาหกรรมอาหาร 32,545 ล้านบาท เนื่องจากผู้ประกอบการยังลงทุนในการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้เป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น อันดับ 2 คือ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง 11,862 ล้านบาท ซึ่งมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในด้านวิศวกรรมการป้องกันภัย การตรวจสอบ และการระงับอัคคีภัย ที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟนได้ รวมถึงมีการวิจัยด้านวัสดุก่อสร้างที่ประหยัดพลังงาน และอันดับ 3 คือ อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้า 11,675 ล้านบาท ซึ่งมีการลงทุนเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนมากขึ้น จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการทำงานที่บ้าน
ขณะที่การสำรวจด้านบุคลากร พบว่า ในปี 2563 ประเทศไทยมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่ทำงานเทียบเท่าเต็มเวลา รวมทั้งสิ้น 168,419 คน/ปี คิดเป็นสัดส่วน 25 คน/ปี ต่อประชากร 10,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ประมาณ 1 % โดยแบ่งเป็นบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา (แบบ FTE) ในภาคเอกชน จำนวน 119,264 คน/ปี ส่วนภาครัฐและอื่น ๆ จำนวน 49,155 คน/ปี ทั้งนี้ประเทศไทยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา (แบบ FTE) ให้มีสัดส่วนอยู่ที่ 40 คน/ปี ต่อประชากร 10,000 คน ภายในปี 2570
ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า ผลสำรวจดังกล่าว เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดสำคัญที่สะท้อนถึงสถานภาพด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ และจะเป็นชุดข้อมูลที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปใช้ประกอบในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยและนวัตกรรม การคาดการณ์กรอบงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (ววน.) รวมถึงการติดตามประเมินผล และเป็นข้อมูลที่ใช้ในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย วช. ซึ่งมีบทบาทในการบริหารทุนวิจัย จะนำชุดข้อมูลและเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้ ไปทำให้เกิดเป็นแนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการทุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาตรงตามทิศทางและนโยบายในภาพรวมของประเทศ
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ตัวเลขสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา ปี 2563 เพิ่มขึ้น แม้จะเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 เป็นเพราะภาครัฐเห็นความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาจึงใส่เม็ดเงินในด้านนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 10 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หากดูแนวโน้มการพัฒนาในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จากงบลงทุน ฯ ประมาณ 0.2 % ของ GDP สามารถขึ้นมาถึง 1.33 % ของ GDP ในปี 2563 ถือว่าประเทศไทยมีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันสูง และมีความพร้อมในการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยฯ
“ในภูมิภาคอาเซียน ค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาของไทย ยังเป็นรองแค่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีประมาณ 1.8 % ของ GDP และมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ในปี2570 หรือ 5 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยได้ตั้งเป้าค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ 2 % ของ GDP ซึ่งหากทำได้ตามเป้าหมาย คาดว่าจะทำให้ประเทศไทยสามารถขึ้นเป็นอันดับ1ในอาเซียนได้ ”
ส่วนการจะก้าวไปสู่เป้าหมาย 2 % ของ GDP ได้นั้น ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ในส่วนของ สอวช. ได้ตั้งเป้าหมายใหญ่หรือซูปเปอร์เคพีไอ ของประเทศที่จะต้องขับเคลื่อนด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ให้สำเร็จภายในปี 2570 คือ 1.การทำให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ทำให้ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยสูงขึ้น และเพิ่มจำนวนบริษัทฐานนวัตกรรมที่มีขนาดธุรกิจมากกว่า 1,000 ล้าน จำนวน 2,000 บริษัท 2. การเพิ่มสัดส่วนแรงงานทักษะสูงให้เป็น 25 % ผ่านแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงรองรับการลงทุนและการพัฒนาประเทศ 3. การพัฒนา Social Mobility ซึ่งกลไกหรือแพลตฟอร์มในการยกระดับฐานะทางสังคมของประชาชน ให้ได้ถึง1 ล้านคน และ 4. การผลักดันให้ 50 % ของบริษัทส่งออก บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ทั้งนี้จำเป็นต้องมีการสร้างเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม ทุนทางวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ และมีการขับเคลื่อนประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลางผ่าน Three-Pronged Strategy ที่ประกอบด้วยอุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้เป็นฐาน อุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และทุนทางวัฒนธรรมเป็นฐาน และเศรษฐกิจท้องถิ่น
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีตัวอย่างนโยบายที่กระทรวง อว. อยู่ระหว่างการขับเคลื่อน เช่น ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ…. ที่จะกำหนดให้ผู้รับทุนสามารถขอเป็นเจ้าของผลงานวิจัยได้ มาตรการ Thailand Plus Package ที่รับรองการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงและการรับรองหลักสูตรในการพัฒนาบุคลากร ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำไปยกเว้นภาษีได้ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม การปรับระบบการให้ทุนวิทยาศาสตร์ ฯ การพัฒนากองทุนนวัตกรรม และการพัฒนากลไกสนับสนุนการจัดการการศึกษารูปแบบใหม่
นอกจากนี้ยังมีการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้งด้านงบประมาณ การบริหารจัดการ โครงสร้างระบบหน่วยงาน และการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม.